ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าเบี้ยประกัน 500 ล้าน-ส.ค. เปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์ม

ไทยพาณิชย์

ไทยพาณิชย์ โพรเทค โบรกเกอร์ประกันภัย บริษัทลูก “ธนาคารไทยพาณิชย์” ตั้งเป้าเบี้ยประกันสิ้นปี’64 ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท หลัง 6 เดือนแรกเบี้ยรับรายปีเข้ามาแล้วเกือบ 200 ล้านบาท คาดสิ้นปีจำนวนลูกค้าแตะ 2.5 แสนราย สวนกระแสรีครูตทีมขาย PC เพิ่มเป็น 2,000 คน-ทีมเทเลเซลส์ 500 คน จ่อ ส.ค. เปิดตัว “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ลุยขายประกันวินาศภัย พร้อมรุกขยายฐานลูกค้าองค์กรไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย เบื้องต้น Exclusive Partner กับ “FWD” เป็นหลัก

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นางสาวปรมาศิริ มโนลม้าย รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจประกัน ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยพาณิชย์ โพรเทค จำกัด เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปี 2564 บริษัทคาดว่าจะมีเบี้ยประกันรับรายปีอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท จำนวนลูกค้า 250,000 ราย จากช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 64) ที่มีเบี้ยประกันเข้ามาแล้วเกือบ 200 ล้านบาท ซึ่งจริง ๆ น่าจะขยายได้มากกว่านี้ ติดที่กำลังคนยังน้อย

ขณะเดียวกันในช่วงสถานการณ์โควิด ทุกคนกำลังรอทยอยสอบใบอนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ปรมาศิริ มโนลม้าย

โดยตั้งแต่ที่บริษัทเปิดตัวธุรกิจนี้ไปเมื่อช่วงกลางปี’63 และได้เริ่มรีครูตทีมขายประมาณเดือน ก.ค. 63 และเริ่มขายประกันไปช่วงเดือน ส.ค. 63 ปัจจุบันบริษัทมีทีมขายที่ปรึกษาความคุ้มครอง (PC) อยู่ประมาณ 300 คน มีประสิทธิภาพการขาย (Active Rate) ประมาณ 80% หรือเฉลี่ย 5 รายต่อคนต่อเดือน (ในช่วงที่ธุรกิจดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศ)

โดยแผนงานในช่วงครึ่งหลังของปี’64 บริษัทพร้อมลุยฝ่าสถานการณ์โควิดเพื่อส่งมอบความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการและความคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจ่าย ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย

1.การสร้างระบบงานขายครบวงจรทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมี 3 ช่องทางออฟไลน์ คือ 1.ที่ปรึกษาความคุ้มครอง (Protection Consultant : PC) ปัจจุบันมีทีมขายอยู่ประมาณ 300 คน คาดว่าภายในสิ้นปีจะมีทีมขายเป็น 2,000 คน 2.พนักงานขายทางโทรศัพท์ (Telesales) คาดว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 500 คน 3.SCB Protect Authorized Broker หรือนายหน้า Part-time สังกัดบริษัท เพื่อเข้ามาหารายได้เสริมผ่านการแนะนำสินค้าประกันชีวิตและประกันวินาศภัย นอกจากนี้ในส่วนช่องทางออนไลน์จะมีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์อีกด้วย

2.รับสมัครทีมขายขยายการเข้าถึงลูกค้าทางออฟไลน์ โดยตามแผนจะจัด “มหกรรมออนไลน์เปิดบ้านรับทีมขาย” Virtual SCB Protect Open House Fair เพื่อรีครูตทีมขายทั้งสมัครและสัมภาษณ์ในช่วงวันที่ 24 ก.ค. 64 ที่จะถึงนี้ โดยสนใจรับทั่วประเทศ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขายยาก เพราะปัจจุบันสำนักงาน คปภ.ได้อนุมัติช่องทางการขายแบบ Digital face-to-face แบบถาวรไปตั้งแต่ปีที่แล้ว

3.ลุยช่องทางดิจิทัลเพิ่มการเข้าถึงตอบโจทย์ยุคเลือกเอง โดยคาดว่าจะเปิดตัวดิจิทัลแพลตฟอร์มประมาณช่วงเดือน ส.ค. 64 เพื่อขายสินค้าประกันวินาศภัย

4.ขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยตั้งแต่เปิดตัวบริษัท ได้เริ่มขายสินค้าประกันชีวิตเป็นสินค้าแรก แต่ครึ่งปีหลังของปี’64 เป็นต้นไป บริษัทจะขยายพอร์ตสินค้าประกันวินาศภัยด้วย ทั้งประกันสุขภาพ ประกันโควิด ประกันรถยนต์ เป็นต้น

ปัจจุบันแผนสินค้าที่ขายดีที่สุดคือ คุ้มตลอดชีพพลัส ครอบคลุมความคุ้มครองชีวิต สุขภาพ และโรคร้ายแรง เบื้องต้นช่วงนี้สำหรับผู้ที่สนใจซื้อประกันทุกแบบของบริษัท จะได้รับเงินคืน 5% ของค่าเบี้ยงวดแรก และรับฟรีโค้ดส่วนลดจาก LAZADA มูลค่า 1,000 บาท พิเศษสามารถผ่อน 0% นานถึง 6 เดือนผ่านบัตรเครดิต SCB ทุกประเภท

5.ขยายตลาดผ่านพันธมิตร และลูกค้าองค์กรเร่งสร้างการเข้าถึง ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรกว่า 1,000 ราย ที่เข้าไปบริการ อาทิ ประกันโควิด ประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น และคาดหวังว่าภายในสิ้นปีนี้จะขยายพอร์ตลูกค้าองค์กรไม่ต่ำกว่า 3,000 ราย ที่สามารถเข้าไปนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้

นางสาวปรมาศิริกล่าวต่อว่า สำหรับสัดส่วนช่องทางขายคาดว่าภายในสิ้นปี ช่องทางที่ปรึกษาความคุ้มครอง (Protection Consultant : PC) จะมีสัดส่วน 70% และช่องทางเทเลเซลส์ 30% โดยพอร์ตสินค้าประกันชีวิตยังเกือบ 100% ส่วนพอร์ตสินค้าประกันวินาศภัยน่าจะเริ่มต้นได้สัก 4-5% เพราะช่วงแรกเป็นช่วงแนะนำตลาดก่อน

โดยปัจจุบันบริษัทมีพันธมิตรบริษัทประกันหลายเจ้า ฝั่งบริษัทประกันชีวิตเป็น Exclusive Partner กับ  บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต (FWD) ส่วนทางบริษัทประกันวินาศภัย ทำงานร่วมกับ บมจ.เทเวศประกันภัย, บมจ.ทิพยประกันภัย, บมจ.ไทยวิวัฒน์ประกันภัย, บมจ.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย เป็นต้น

“ตลาดประกันชีวิตและประกันวินาศภัยปีนี้ resilience มาก ถ้าดูสถิติเบี้ยประกันในตลาดค่อนข้างทรงตัวๆ ไม่ติดลบและไม่โตมาก เพราะกำลังซื้อของประชาชนถูกผลกระทบโควิด ดังนั้นตลาดประกันปีนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากปีที่แล้วในแง่ของค่าเบี้ย แต่ผลกระทบหลักคือเบี้ยต่อราย (Case size) ที่จะลดลง” นางสาวปรมาศิริกล่าว