กกร. เสนอ บสย. เพิ่มค้ำประกัน SMEs เป็น 70% ยกเว้นค่าฟีปีที่ 1-3

โกดังพักหนี้-1

กกร. ชง บสย. เพิ่มวงเงินค้ำประกันเอสเอ็มอีเป็น 70% จาก 40% พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมปีที่ 1-3 หวังลดภาระ-เติมสภาพคล่องผู้ประกอบการ เร่งแยกกลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอลก่อนโควิด-19 เผย ธปท.เตรียมแก้เกณฑ์ยกเว้นค่าฟีโอนทรัพย์ปลดล็อกโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้”

วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า กกร.ได้เสนอภาครัฐและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการะบาดของโควิด-19 ได้เข้าถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มากขึ้น

จึงเสนอให้ บสย.ขยายวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารเป็น 70% จากเดิมอยู่ที่ 40% ขณะเดียวกันขอให้มีการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันสินเชื่อในช่วงปีที่ 1-3 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ถูกกระทบและได้รับความเดือดร้อนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีภายใต้โครงการ Faster Payment ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ให้ผู้ประกอบการได้รับการชำระเงินค่าสินค้าได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการขยายไปยัง SET100 และภาคส่วนอื่น ๆ ต่อไป เพิ่มจากเดิมที่ได้ดำเนินการ MOU ไปแล้ว 163 แห่ง

“ตอนนี้ตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟู ล่าสุด ณ วันที่ 28 ม.ย. 64 อนุมัติอยู่ที่กว่า 6 หมื่นล้านบาท ลูกค้าได้รับการช่วยเหลือเกือบ 2 หมื่นราย ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ยังต่ำอยู่ที่ 900 ล้านบาท จำนวน 11 ราย ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้เกณฑ์การยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนทรัพย์ ซึ่งคาดว่า ธปท.จะสรุปประเด็นในเร็ว ๆ นี้ โดยสัญญาณหนี้เสียยอมรับว่าน่ากังวล แต่จากเครื่องมือของ ธปท.ที่มีอยู่จะช่วยลูกหนี้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ เลื่อนการชำระหนี้ และจะเห็นว่ามีบางแห่งขายทรัพย์ออก ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก แต่ยอมรับว่ามีแรงกดดันสูง แต่ก็ช่วยพยายามประคองลูกค้า”

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตอนนี้สภาพคล่องของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค่อนข้างย่ำแย่ จึงมีการถกในที่ประชุมถึงเอสเอ็มอีที่มีปัญหาทางการเงินหลังผลกระทบโควิด-19 ซึ่งปัจจุบัน ธปท. และ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโรฯ) ได้มีการจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ได้รับผลกกระทบจากโควิด-19 แยกจากลูกหนี้เอ็นพีแอลทั่วไป เนื่องจากลูกหนี้ที่มีปัญหาในช่วงโควิด-19 จะเป็นลูกหนี้ที่น่าเห็นใจ และต้องการความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่อง แต่จะเห็นว่ายังคงติดข้อจำกัดของ ธปท.ที่เน้นในกลุ่มลูกหนี้ที่มีศักยภาพ จึงเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินลำบากใจและทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้สภาพคล่องน้อยลง

“ตอนนี้เราเสนอคณะกรรมการว่าเอสเอ็มอีต้องการสภาพคล่องและเพิ่มวงเงินค้ำประกันเป็น 70% ซึ่งขณะนี้ระหว่างสมาคมธนาคารไทยและหอหารค้าเรากำลังรอตัวเลขให้ชัดเจนก่อนว่ามีเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อเสนอต่อ กกร. และ กระทรวงการคลัง และได้หารือร่วมกับธปท.ด้วย”