ดร.นิเวศน์ สะท้อนความเจ็บปวด-การแก้ไขในวิกฤตต้มยำกุ้ง VS โควิด-19

เศรษฐกิจ-ตรอกข้าวสาร
REUTERS/Soe Zeya Tun

จนถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณปีครึ่งแล้วตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ดูเหมือนว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แต่กลับแย่ลงและไม่รู้ว่าโรคจะติดต่อร้ายแรงไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งก็จะมีผลให้เศรษฐกิจตกต่ำลงต่อไป จนอาจจะทำให้ประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีรายได้น้อยประสบกับปัญหาจน “รับไม่ไหว”

ผมเองเคยพูดว่าเวลาของการเติบโตทางเศรษฐกิจของเราอาจจะ “หายไป 3 ปี” แต่ลึก ๆ แล้วก็มีโอกาสที่จะกลายเป็น 4 ปี ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น นี่ก็จะเป็นวิกฤตที่รุนแรงเท่า ๆ กับวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทย “หายไปประมาณ 4 ปี” แต่ถ้ามองในมุมของจำนวนคนที่ถูกกระทบจากวิกฤตซึ่งไม่ได้มีแค่ทางเศรษฐกิจ แต่ในด้านสังคมและอื่น ๆ ด้วยแล้ว ผมคิดว่าวิกฤตโควิด-19 นั้นรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งมาก ลองมาทบทวนความหลังกันในฐานะของคนที่เคยอยู่ในท่ามกลางวิกฤตทั้งสองครั้ง

วิกฤตต้มยำกุ้งนั้น เป็น “วิกฤตคนรวย” นั่นก็คือ คนรวยหรือคนที่มีฐานะดี โดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถกู้เงินโดยเฉพาะดอลลาร์จากต่างประเทศเข้ามาใช้ลงทุน ประสบกับปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อมีการลดค่าเงินบาท ซึ่งทำให้เกิดภาวะล้มละลาย ซึ่งส่งผลให้สถาบันการเงินล้มตามไปด้วย ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้สภาพคล่องทางการเงินที่หล่อเลี้ยงธุรกิจทั้งประเทศหายไปเกือบหมดเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากบริษัทใหญ่ ๆ “หยุดชะงัก”

ส่วนวิกฤตโควิด-19 นั้น บริษัทขนาดใหญ่และคนรวยมีปัญหาน้อย ยอดขายอาจจะลดลงบ้าง แต่พวกเขาก็ยังมีกำไร คนที่เจ็บหนักก็คือ “คนจน” หรือคนชั้นกลางในบางภาคของเศรษฐกิจ เช่นที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เดินทาง และความบันเทิง ที่มีการชุมนุมผู้คน เพราะโควิด-19 ทำให้กิจการเหล่านั้นถูกปิด และพวกเขาไม่สามารถหางานอื่นที่ให้ผลตอบแทนเท่ากันได้

ในช่วงวิกฤตปี 40 นั้น ผมเป็นพนักงานของสถาบันการเงินที่ในที่สุดก็ “ถูกปิด” ในช่วงเวลาก่อนที่จะถูกปิดซึ่งกินเวลาเป็นปี ๆ นั้น ผมไม่ได้เดือดร้อนอะไรนัก ผมยังได้เงินเดือนเหมือนเดิม งานที่ทำนั้นอาจจะน้อยลงเนื่องจากไม่มีเงินที่จะปล่อยกู้แล้ว งานที่ทำก็กลายเป็นการหาทางทำให้บริษัทรอดจากการล้มละลาย ซึ่งในที่สุดก็ไม่สำเร็จ เพราะ “ภาพใหญ่” ของประเทศไปไม่ไหวแล้ว

ในช่วงนั้น สิ่งที่รบกวนจิตใจจริงๆ ก็คือ “อนาคตเราจะเป็นอย่างไร” เกือบทุกเที่ยงวัน ผมก็มักจะเดินไปกินอาหารกลางวันย่านสยามสแควร์คนเดียว แล้วก็มองดูร้านค้าทั้งด้านนอกและในช้อบปิ้งมอลล์ที่เหงาหงอยและหลายร้านก็ปิดร้าง คนชั้นกลางขั้นสูงหลายคนเริ่ม “เปิดท้ายขายของ” เอาเสื้อผ้าหรูหรือของใช้มีค่าใส่ท้ายรถหรูมาขายในชุมชนหรู เช่น ย่านทองหล่อ ไม่มีใครบ่นว่า “ไม่มีจะกิน” อย่างในช่วงโควิดนี้

ออกจากงานในสถาบันการเงินผมก็สามารถได้งาน “ที่ปรึกษา” ในบริษัทสื่อสารขนาดใหญ่แทบจะทันที ดูเหมือนว่ากลุ่มคนที่ทำงานในสถาบันการเงินส่วนใหญ่ที่ถูกปิดจะสามารถเข้าไปทำงานให้กับบริษัทในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่กำลังดีขึ้นมาก เนื่องจากค่าเงินบาทที่ลดลง ส่วนผู้ใช้แรงงานเองนั้น ในช่วงแรกที่ต้องตกงานก็อาจจะมีบ้างที่ “กลับบ้านต่างจังหวัด” ที่จะมีอาหารและที่อยู่ที่จะเอาตัวรอดได้

รัฐบาลเองนั้น ถ้าผมจำไม่ผิดก็มี “โครงการมิยาซาวา” ที่เป็นเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวนประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่จะหางานให้คนในท้องถิ่นทำ ผมยังจำได้ว่ามีญาติคนหนึ่งที่เป็น “แม่บ้าน” และก็ไม่ได้ยากจนหรือลำบากอะไรอุตส่าห์ไป “เรียน” การทำงานฝีมือของโครงการหนึ่ง

ในระดับของคนชั้นกลางกินเงินเดือนนั้น ผมเองถูกถามจากเพื่อนว่า เขามีเงินกู้บ้านและรถอยู่จะทำอย่างไร เพราะบริษัทเงินทุนที่กู้มาถูกปิดหรืออาจจะกำลังถูกปิด ถ้าผ่อนต่อจะเป็นปัญหาไหม พวกเขามีเงินและพร้อมที่จะผ่อนแต่ผ่อนไม่ได้และอาจจะถือโอกาสไม่ยอมผ่อน เพราะคนให้กู้กำลังจะเจ๊ง ดังนั้นลูกหนี้จำนวนมากในบัญชีของสถาบันการเงินอาจจะเป็น “หนี้เสีย” แต่จริงๆ แล้ว พวกเขายังจ่ายหนี้ได้ ว่าที่จริงผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ข้อสรุปของผมก็คือ คนจนและคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บหนักอะไรนัก

ในขณะที่คนรวยหรือเศรษฐีใหญ่จำนวนมากจนลงหรือมีความมั่งคั่งน้อยลงมาก เหตุเพราะบริษัท “ล่มสลาย” หรือรอดมาได้ แต่มีการเพิ่มทุนโดยเฉพาะจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วนเศรษฐีไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย และภายหลังที่วิกฤตได้รับการแก้ไขผ่านไป ประเทศไทยก็ผ่านเข้าสู่ยุค “Modern Business” ที่เกิดธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการบริหารแบบใหม่ที่เป็นระบบและเป็นเครือข่าย มีสาขากระจายไปทั่วประเทศ และได้รับการสนับสนุนทางการเงินโดยตลาดทุนที่ไม่ได้อิงเฉพาะกับสถาบันการเงินอีกต่อไป เศรษฐีใหม่ของไทยเกิดขึ้น เศรษฐีเก่าค่อยๆ เลือนหายไป

พูดถึงปัญหาสังคมที่มักจะมีคน “ฆ่าตัวตาย” มากขึ้นในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนั้น อาจจะมีคนคิดว่าปีต้มยำกุ้งคนน่าจะลำบากและเครียดจนฆ่าตัวตายกันมาก ผมคิดว่านี่เป็น “ภาพลวงตา” และส่วนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในตลาดหุ้นในช่วงปลายปี 2538 ที่เกิดการ “พยายามฆ่าตัวตาย” ต่อหน้าคนจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ที่ตึกสินธรในขณะนั้น ของนักเล่นหุ้นคนหนึ่งที่ขาดทุนหุ้นจน “หมดตัว”

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มมีปัญหารุนแรงและดัชนีตลาดหุ้นตกต่ำมานานจากจุดสูงสุดที่กว่า 1,750 จุด เหลือประมาณ 1,200 จุด ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาพเหตุการณ์นั้นเป็นข่าวโด่งดังมากและอาจจะติดอยู่ในความคิดของคนในภายหลัง แต่ความเป็นจริงก็คือ ผมไม่เห็นว่าจะมีอัตราการฆ่าตัวตายที่ผิดปกติในหมู่ประชาชนทั่วไปเลย แต่ในวิกฤตโควิด-19 ผมคิดว่าน่าจะมีคนฆ่าตัวตายมากขึ้นจริง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่หลายคนบอกว่า “ไม่ไหวแล้ว”

พูดถึงการต่อสู้หรือจัดการในการแก้ปัญหาวิกฤตในภาคของรัฐแล้ว ผมคิดว่ามีอะไรที่เหมือนกันและแตกต่างกันพอสมควร ประการแรกก็คือใน “รอบแรก” ที่เกิดปัญหานั้น ดูเหมือนว่าไทยจะ “ชนะ” และแทบจะมีการ “เปิดแชมเปญ” ฉลอง ในกรณีของต้มยำกุ้งนั้น ในช่วงต้นปี 2540 แบงก์ชาติซึ่งเป็นทัพหน้าในการต่อสู้กับ “การโจมตีค่าเงินบาท” ของนักลงทุนต่างประเทศที่น่าจะรวมถึงจอร์จโซรอสด้วยนั้น เราสามารถ “เอาชนะ” ได้อย่างน่าประทับใจ

สิ่งที่เราทำในตอนนั้นก็คือการเอาเงินดอลลาร์ที่เป็นเงินสำรองของประเทศไปซื้อเงินบาทในต่างประเทศ โดยการทำ “Swap” เพื่อปกปิดธุรกรรม นั่นอาจจะทำให้คนเข้ามาปั่นเงินบาทเจ๊งและเลิกเข้ามาโจมตีเงินบาทต่อไป อย่างไรก็ตามนั่นก็คงเหมือนกับการเก็งกำไรหรือปั่นหุ้นที่ไม่มีพื้นฐาน ตอนแรกหุ้นก็อาจจะขึ้น แต่ในที่สุดเงินสำรองเราก็หมดและเงินบาทก็ “ล่มสลาย” ในวันที่ 2 กรกฏาคม 2540 ที่ไทยต้องประกาศลดค่าเงิน นี่ก็คงคล้าย ๆ กับวิกฤตโควิด-19 ที่ในช่วงแรกเราทำได้ดีมากและเราก็ “ประกาศไปทั่ว” ก่อนที่จะพบว่าเรา “พลาดไปมาก” ในวันนี้

ยุคต้มยำกุ้งนั้นประเทศไทยมีนายกเป็นทหารที่ “สมบูรณ์แบบ” ในหลาย ๆ ด้าน เป็น “นักเรียน ห้องคิงโรงเรียนเตรียมอุดม” เป็นทหารที่เอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยนโยบาย 66/23 ที่นิรโทษกรรมคนและนักศึกษาที่หนีเข้าป่าเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายแข็งกร้าว ปราบคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลขวาจัดในยุคก่อน เป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดถึง 4 ปี ก่อนที่จะลาออกมาเล่นการเมืองเมื่ออายุ 58 ปี และได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2539

ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับมรสุมอย่างหนัก การจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตของ “บิ๊กจิ๋ว” หรือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธนั้น ก็คงคล้ายๆ กับในกรณีของวิกฤตทั้งหลายที่ “สับสนอลหม่าน” ประเภทวันหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง พอถึงอีกวันก็เปลี่ยนไป รับปากไว้แล้วพอถึงวันก็ “ลืม” จน “หมอ” ที่อยู่ “ฝ่ายตรงข้าม” ต้องออกมาพูดว่าพลเอกชวลิตน่าจะเป็น “อัลไซเมอร์” ในยุคที่คนไทยยังไม่รู้จักโรคนี้ อย่างไรก็ตาม “บิ๊กจิ๋ว” ไม่เคยว่าใครหรือโกรธใคร เวลาพูดจะสุภาพและหวานจนได้ฉายาว่า “จิ๋วหวานเจี๊ยบ”

เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายลงไปมาก แรงต่อต้านบิ๊กจิ๋วก็มากขึ้นเรื่อยๆ พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็พยายามที่จะล้มรัฐบาลแต่ก็ไม่สำเร็จ ถึงจุดหนึ่งประชาชนโดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นกลางขึ้นและคนรวยก็เริ่มประท้วงเพราะเป็นผู้ที่บาดเจ็บมากที่สุด เรียกว่าเป็น “ม็อบคนรวย” เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดม็อบขึ้นกลางถนนสีลม นำโดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กรและบริษัทขนาดใหญ่เรียกร้องให้พลเอกชวลิตลาออก ซึ่งในที่สุดเขาก็ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อผลงานของตนเอง และเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

แนวความคิดแบบ “ประชาธิปไตย” ของบิ๊กจิ๋วในห้วงเวลานั้นเองก็อาจจะเป็นผลมาจาก “กระแส” ของประชาชนในช่วงนั้นที่มีการเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเป็นฉบับที่ “เขียนโดยประชาชน” และได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ก่อนที่พลเอกชวลิตจะลาออกและถูกแทนที่โดยนายชวน หลีกภัย ผู้นำฝ่ายค้านที่พาประเทศผ่านวิกฤตในที่สุด

สำหรับในกรณีของวิกฤตโควิด-19 นั้น ผู้อ่านก็คงจะต้องวิเคราะห์เองว่าการจัดการของรัฐมีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรจากวิกฤตต้มยำกุ้งและจะลงเอยแบบไหน

ที่มา : บริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด