ธปท. ผนึก 29 แบงก์นำร่องบริการขอ bank statement ทางดิจิทัล

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ธปท. ผนึกสมาคมธนาคารไทย-แบงก์รัฐ-ธนาคารนานาชาติ 29 แห่ง เปิดบริการ “รับส่งข้อมูล bank statement ทางดิจิทัล” หรือ “API Standard” ส่งรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝากเพื่อขอสินเชื่อ นำร่องธนาคาร 10 แห่ง ครอบคลุมบัญชีกว่า 98% ดีเดย์เดือน ม.ค.65 เคาะเพดานค่าธรรมเนียม 75 บาทต่อรายการ จากเดิมอยู่ที่ 100-200 บาท หวังลดต้นทุนลูกค้า-สร้างมาตรการข้อมูลเดียวกันทั้งระบบ

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทยที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนได้รับบริการทางการเงินที่สะดวกขึ้นและมีต้นทุนถูกลง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลเติบโตแบบก้าวกระโดด ข้อมูลที่เกิดจากบริการทางการเงินเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สำคัญของระบบการเงิน

แต่ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินยังขาดกลไกการเชื่อมโยงข้อมูล และมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้อย่างเต็มที่ การเรียกใช้ข้อมูลของตนเองจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเพื่อขอใช้บริการกับสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องขอข้อมูลในรูปแบบเอกสารกระดาษ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็น และยังมีส่วนในการจำกัดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้วย

ธปท. เล็งเห็นความจำเป็นในการเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของบริการทางการเงินดิจิทัล และได้ผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวมทั้งสิ้น 29 แห่ง

โดยได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินของตนเองได้สะดวกขึ้น ได้รับบริการในระยะเวลาที่สั้นลงและมีต้นทุนถูกลง

บริการแรกภายใต้กรอบความร่วมมือข้างต้นที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ คือ การรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน ที่ประชาชนจะสามารถเรียกข้อมูล bank statement จากสถาบันการเงินหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ขอสินเชื่อกับอีกสถาบันการเงินหนึ่งผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ

ซึ่งจะช่วยลดภาระการเดินทางและระยะเวลาในการดำเนินการขอและรับส่งข้อมูลลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินจะสามารถลดต้นทุนการตรวจสอบและประมวลผลด้านเอกสาร รวมถึงลดความเสี่ยงที่เอกสารอาจถูกปลอมแปลงได้อีกด้วย

บริการรับส่งข้อมูล bank statement ทางดิจิทัลนี้ จะเริ่มให้บริการภายในเดือนมกราคม 2565 โดยมีสถาบันการเงินพร้อมให้บริการ 10 แห่ง ซึ่งครอบคลุมกว่า 98% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประชาชนในระบบธนาคารไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“ความร่วมมือในการพัฒนาและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงินนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของทุกฝ่าย ที่จะร่วมกันพัฒนาบริการทางการเงินไปสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และ ธปท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือของภาคธนาคารในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นต้นแบบที่ขยายไปสู่ความร่วมมือในลักษณะเดียวกันของภาครัฐและภาคเอกชน จนเกิดระบบนิเวศด้านข้อมูลของประเทศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและรวดเร็ว และผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น”

นางสาวพีรจิต ปัทมสูต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในเดือนมกราคม 2565 บริการ “รับส่งข้อมูล bank statement ทางดิจิทัล” หรือ “API Standard” จะเป็นโครงการนำร่องจากสถาบันการเงิน 10 แห่ง จาก 29 แห่ง และหลังจากนั้นสถาบันการเงินที่เหลือจะทยอยเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม

โดยระหว่างนี้ ธปท.ก็ศึกษา Use Case อื่นๆ เช่น นำไปใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่จำเป็นต้องปริ๊นต์เอกสารจำนวนมาก หรือกรณีการขอวีซ่าเดินทางที่ต้องใช้เอกสาร เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีการพัฒนาต่อยอดโครงการถัดไปในช่วงปลายปีนี้

สำหรับอัตราการค่าธรรมเนียมการบริการ “รับส่งข้อมูล bank statement ทางดิจิทัล” ธปท.ได้กำหนดเพดานอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบริการไว้ไม่เกินที่ 75 บาทต่อรายการ จากรูปแบบปกติจะมีการเรียกเก็บในอัตรา 100-200 บาทต่อรายการ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนได้ค่อนข้างเยอะ และเพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาด ธปท.จะให้ธนาคารกำหนดราคากันเอง

ซึ่งจากการพูดคุยบางรายอาจจะไม่เรียกเก็บ หรือบางรายอาจจะเก็บในอัตรา 20-30 บาทต่อรายการได้ ซึ่งจะช่วยสร้างกลไกการแข่งขันทางด้านราคา นอกจากต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลงแล้ว และจะเห็นว่าต้นทุนแฝงต่างๆ เช่น ค่าเดินทางเพื่อไปสาขา ก็จะปรับลดลงด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบอย่างมาก

“ประเทศมีข้อมูลจำนวนมาก และบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลค่อนข้างเยอะ โดยในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของธุรกรรมกว่า 100 ล้านบัญชี และด้วยบริการทางการเงินมากขึ้นและขยายไปสู่การขอสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งบริการรับส่งข้อมูล bank statement ทางดิจิทัล เป็น Use Case แรกที่แบงก์มองว่ามีปัญหาร่วมกัน

เช่น เอกสารปลอม หรือแบบรายงานไม่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อบริการนี้ทำได้จะเข้ามาช่วยลดต้นทุนอย่างมาก ซึ่งดูจากตัวเลขการขอสินเชื่อในปีก่อนอยู่ที่ 10 ล้านรายการ ซึ่งพนักงานเมื่อได้เอกสารจะต้องเสียเวลานั่งประมวลผล ลูกค้าก็ต้องเดินทางมาสาขาและเสียค่าธรรมเนียม ต้นทุนเหล่านี้จะหายไป และอันนี้เป็นเพียงโครงการนำร่อง ซึ่งธปท.จะพัฒนาโครงการถัดๆ ไปอีกในอนาคต”

นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร พนักงานปฏิบัติงานพิเศษ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า บริการ “รับส่งข้อมูล bank statement ทางดิจิทัล” จะเกิดขึ้นได้เมื่อลูกค้าต้องยินยอมให้ส่งข้อมูล และมีการพิสูจน์ยืนยันตัวตน โดยกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูล bank statement ทางดิจิทัลจะใช้เวลาเพียง 2-3 นาที จากเดิมที่จะต้องใช้เวลานานถึง 2 วัน และธนาคารจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจาก bank statement ในแต่ละธนาคารจะเป็นคนละมาตรฐาน แต่บริการใหม่นี้จะมีข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างธนาคาร และสามารถเชื่อมโยงได้ทุกธนาคาร เพื่อก้าวสู่การใช้ระบบดิจิทัลเต็มที่

“สิ่งที่ลูกค้าจะได้ประโยชน์ คือ ได้บริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น และเป็นข้อมูลแบบดิจิทัลไม่ต้องอาศัยกระดาษ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมการขอ bank statement จะหายไป และแบงก์เองค่าใช้จ่ายทางด้านสาขาและบุคลากรตรงนี้จะหายไปเมื่อเกิดความร่วมมือในโครงการนี้”