สัญญาณยืดหนี้ หุ้นกู้ ส่อพุ่ง “รายเก่า-รายใหม่” ประคองตัวไม่ไหว

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” ชี้สัญญาณบริษัทขอยืดหนี้ “หุ้นกู้” ส่อพุ่ง “รายเก่า-รายใหม่” ประคองตัวไม่ไหวจากปัญหาโควิดระบาดหนัก ครึ่งปีหลังประเมินตัวเลขขอยืดหนี้อีกราว 1,000-2,000 ล้านบาท หลังครึ่งปีแรกขอยืดหนี้ 9 บริษัท 17 รุ่น ด้านยอดออกหุ้นกู้ปีนี้ทะลัก ปรับเป้าใหม่เป็น 9 แสนล้านบาท

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าบริษัทเอกชนไทยจะเข้าระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการรีไฟแนนซ์ในช่วงก่อนหน้านี้ของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยได้ปรับประมาณการออกหุ้นกู้ทั้งปีขึ้นจากเดิมที่ 7-7.5 แสนล้านบาท มาเป็น 9 แสนล้านบาท

จาก 6 เดือนแรกมีมูลค่าการออกหุ้นกู้ 5.22 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเรียลเซ็กเตอร์ 4.24 แสนล้านบาท และที่เหลือ 9.78 หมื่นล้านบาท เป็นกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงิน

ขณะที่การออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืน (ESG Bond) ยังเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง ช่วงครึ่งแรกของปี 64 มีมูลค่าการออกจากทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งสิ้น 61,000 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าการออกทั้งปี 63

ส่วนการออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ครึ่งปีแรก พบว่า 86% เป็นหุ้นกู้มีประกัน ส่วนใหญ่กว่า 81% เป็นการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น 13% ค้ำประกันโดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่เหลือ 6% เป็นอื่น ๆ

โดยไฮยีลด์บอนด์ยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) แต่มีการขอยืดหนี้ ซึ่งข้อมูล สัปดาห์สุดท้ายไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 9 บริษัท 17 รุ่น มีผสมผสานกันทั้งเจ้าเดิมที่ขอยืดหนี้เมื่อปีก่อนแล้วขอยืดเพิ่มปีนี้ และมีรายใหม่ที่ประคองตัวได้ในปีก่อน แต่ปีนี้สถานการณ์ไม่ดีขึ้นจึงขอยืดหนี้

โดยสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้จะเป็นในลักษณะการขอยืดหนี้ระยะเวลา 6-9 เดือน หรือมากกว่านั้นประมาณ 1 ปี แต่ต้องไปขออนุมัติจากผู้ถือหน่วย เบื้องต้นประเมินตัวเลขไว้น่าจะประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย (บอนด์ยีลด์) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่ามีโอกาสจะขยับขึ้นตามบอนด์ยีลด์สหรัฐ จากการที่เฟดจะเริ่มส่งสัญญาณการทยอยถอนมาตรการการเงินผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เมื่อตัวเลขต่าง ๆ สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ด้านเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ในครึ่งแรกของปี 64 นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อสุทธิรวม 73,437 ล้านบาท เป็นการขายตราสารหนี้ระยะสั้น และซื้อตราสารหนี้ระยะยาว โดยเป็นการกลับเข้าซื้อตั้งแต่เดือน มี.ค. เป็นต้นมา ทำให้ยอดการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ สิ้นไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 908,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 849,081 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 653 มากกว่า 90% เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว

นายธาดากล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีการระดมทุนโดยการเสนอขายบอนด์รวมเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาทนั้น ยังเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเครดิตเรตติ้งของประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ BBB+ เนื่องจากสัดส่วนเงินออมในระบบเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับที่สูง สามารถดูดซับซัพพลายบอนด์รัฐบาลได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำมาก และมีแนวโน้มที่จะต่ำต่อเนื่องไปมากกว่า 1 ปี ทั้งนี้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงจากปัญหาโควิดไปจนถึงปลายปี

“เราเห็นไทยมีการลงทุนโดยนักลงทุนบุคคลในหุ้นกู้ค่อนข้างมาก เราคิดว่าในระยะยาวควรมีตัวกลางที่เป็น Vehicle ให้นักลงทุนลงทุนได้ด้วยจำนวนไม่มาก และสามารถกระจายความเสี่ยงได้ ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าการลงทุนผ่านตัวกลางกลับลดลง ดังนั้นจึงต้องดูเรื่องการลงทุนผ่านตัวกลางให้มากขึ้นด้วย” นายธาดากล่าว