เบี้ยประกันชีวิตส่อหดตัวแรง กำลังซื้อดิ่งเหวลูกค้าแห่เลิกกรมธรรม์

ประกันชีวิตอ่วม ! สัญญาณเบี้ยหดแรง“สมาคมประกันชีวิตไทย” ชี้เอฟเฟ็กต์โควิดรอบ 3 ทุบกำลังซื้อ คาดแนวโน้มครึ่งปีหลังแห่ “ยกเลิกกรมธรรม์-ปล่อยขาดอายุ” พุ่งต่อเนื่อง คปภ.โชว์ตัวเลขไตรมาส 1/2564 วูบแล้วเกือบ 3 แสนฉบับ สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนกว่า 25% ขณะที่ยอดกู้เงินกรมธรรม์พุ่งขึ้นกว่า 5,000 ล้านบาท ด้าน “อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยฯ”ระบุคนแห่ยกเลิกประกันบ่งชี้เศรษฐกิจไทยถดถอย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานข้อมูลธุรกิจประกันชีวิตงวดไตรมาส 1/2564 ทั้งระบบพบว่า

จำนวนกรมธรรม์ที่มีการยกเลิกหรือขาดอายุ อยู่ที่ 298,592 ฉบับ เพิ่มขึ้น 146,674 ฉบับ หรือ 25.53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย 3 แบบประกันที่ถูกยกเลิกมากที่สุด คือ 1.กรมธรรม์ประกันตลอดชีพ 2.กรมธรรม์ประกันออมทรัพย์ และ 3.กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์)

ขณะที่ยอดเงินให้กู้โดยมีกรมธรรม์เป็นประกัน อยู่ที่ 179,315 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.92% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,086 ล้านบาท (ดูตาราง)

นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผย ว่า ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตทั้งระบบในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2564 ยังเติบโตอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 3.25% และ 3.17% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ADVERTISMENT

คิดเป็นเบี้ยรวมประมาณ 195,544 ล้านบาท และ 240,825 ล้านบาท ตามลำดับ แต่แนวโน้มข้างหน้าจะเห็นสัญญาณชะลอตัวลง โดยเฉพาะในเดือน มิ.ย. นี้ ซึ่งคาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากกำลังซื้อประชาชนที่หดตัวจากผลกระทบโควิด-19 ระลอกสาม

ขณะที่ถ้าดูสัญญาณจำนวนกรมธรรม์ที่ถูกยกเลิกในไตรมาสแรกนั้น เบื้องต้นน่าจะยังไม่รวมกรณีที่หลาย ๆ บริษัทมีการผ่อนผันการชำระเบี้ยให้ลูกค้าไปจนถึงสิ้นปี 2564

ADVERTISMENT

และยังไม่รวมเงินกู้กรมธรรม์อัตโนมัติ (Automatic Premium Loan : APL) ซึ่งกรณีนี้จะเห็นกรมธรรม์ขาดอายุก็ต่อเมื่อมูลค่าเงินสดที่มีอยู่ในกรมธรรม์ถูกหักไปชำระเบี้ยจนหมด ดังนั้น ตัวเลขจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นได้อีกในอนาคต

“ปัจจัยแวดล้อมที่กระทบธุรกิจประกัน แน่นอนส่วนหนึ่งเกิดจากกำลังซื้อหดตัว แต่ถ้าสังเกตจะมีคนบางกลุ่มที่มีกำลัง แต่เลือกตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกในช่วงเวลานี้

ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการไม่จ่ายค่าเบี้ยประกัน ส่วนกรณียอดเงินกู้บริษัทประกันเพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นเพราะลูกค้าได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด ซึ่งอาจจะไม่มีแหล่งเงินกู้ช่องทางอื่นแล้ว จึงใช้ช่องทางเงินออมผ่านช่องทางนี้ เพราะดอกเบี้ยต่ำกว่าช่องทางอื่น ๆ” นายพิชากล่าว

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้เป็นต้นไป จะเห็นจำนวนกรมธรรม์ที่ถูกยกเลิกหรือขาดอายุสูงขึ้นต่อเนื่อง

เพราะธุรกิจประกันจะได้รับผลกระทบในลักษณะคลื่นระลอกสอง ตามหลังธุรกิจอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ (indicator) ว่า เศรษฐกิจไทยถดถอยแน่นอน

โดยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อย เพราะไม่มีกำลังจ่ายเบี้ย ซึ่งตอนนี้เริ่มเห็นกำลังซื้อที่หดตัวลง โดยเฉพาะการซื้อประกันออมทรัพย์ แต่สินค้าประกันสุขภาพยังสูงอยู่

ดังนั้นในเชิงธุรกิจ ถ้าขายสินค้าประกันสุขภาพมากขึ้น กำไรจะมากกว่าการขายสินค้ากึ่งลงทุน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารพอร์ตที่ดีด้วย อาทิ จัดการค่าใช้จ่ายเคลมสุขภาพและโรคร้ายแรงได้ เป็นต้น

“ส่วนเงินกู้บริษัทประกันที่สูงขึ้นนั้น ปกติแล้วเกิดจาก 2 กรณี คือ 1.ไม่มีความสามารถจ่ายเบี้ยปีต่ออายุได้และโดนตัด 2.อยากถอนเงินสดคืน จึงต้องดูว่าเป็นกรมธรรม์ปีที่เท่าไร

ส่วนใหญ่ถ้าเป็นกรมธรรม์ปีที่ 3 ขึ้นไป จะมี APL อยู่แล้ว แต่หลัก ๆ ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำลูกค้ารายย่อยจะยกเลิกกรมธรรม์ไปเลย แต่ถ้าเป็นลูกค้าระดับกลางอาจจะถอนเงินสดนำมาจ่ายเบี้ย หรือบางประเภทถอนเงินสดออกมาทั้งหมดเลย แต่ปัจจัยข้างต้นจะขึ้นอยู่ที่นโยบายของแต่ละบริษัทประกันด้วย” นายพิเชฐกล่าว