แนวโน้มผันผวนในเดือนกรกฎาคม สลับมาในหุ้นเชิงรับ

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน
เอกภาวิน สุนทราภิชาติ
บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน SET หลุดต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง หลังที่ก่อนหน้านี้ ปรับขึ้นได้อย่างร้อนแรงและฝ่าแนวต้าน 1,600 จุดขึ้นไปได้ ด้วยแรงหนุนจากการปูพรมฉีดวัคซีน สร้างความหวังการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วกว่าคาด ตามมาด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องถึงสิ้นปีนี้ ปิดท้ายด้วยกรอบเวลาการเปิดประเทศภายใน 120 วัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ จากความกังวลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นหลังจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง บวกกับปัจจัยลบในประเทศในเรื่องการขาดแคลนวัคซีนที่ส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนฉีด ส่งผลกระทบต่อ sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ปรับลดลง หลุดต่ำกว่า 1,600 จุด ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ด้านทิศทาง fund flow ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเป็นเดือนที่ 6 ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าที่ขายสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มสัดส่วนการถือครองในหุ้นกลุ่มพลังงาน อสังหาฯ ICT ขนส่ง แต่ลดสัดส่วนการถือครองในกลุ่มปิโตรเคมี

ขณะที่ performance ของดัชนี MSCI Thailand แย่กว่า MSCI APAC ex. Japan ในทุกช่วงเวลา คือ 1, 3, 6 และ 12 เดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในส่วนของประมาณการกำไร ปี’64 ของ SET นั้น consensus มีการปรับขึ้น 0.92% เช่นเดียวกับไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย และอินโดนีเซีย ปรับขึ้น 5.20%, 4.48%, 3.17% และ 2.27% ตามลำดับ ตรงข้ามกับฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน ที่ปรับประมาณการกำไรปีนี้ลง 7.65%, 7.33%, 1.64% และ 0.44% ตามลำดับ

ด้านแนวโน้ม SET ในเดือน ก.ค. มองว่าจะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบระหว่าง 1,530-1,630 จุด โดยมีทั้งปัจจัยบวกลบเข้ามามีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหว โดยปัจจัยหนุนมาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ รวมถึงความคืบหน้าของวัคซีนทางเลือก เพื่อเตรียมเปิดประเทศได้ในช่วง Q4/64 อย่างไรก็ตาม กรอบบนยังจำกัด เนื่องจากมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาเป็นระยะ ซึ่งล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งขึ้นต่อเนื่อง และยังคงต้องติดตามนโยบายการเงิน Fed เรื่องสัญญาณลด QE ทำให้ตลาดมีความเสี่ยงด้าน downside อยู่

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุน จึงยังเน้นลงทุนในหุ้นเชิงรับ และ/หรือ มีกำไรเติบโตดี แทนหุ้นกลุ่มเชิงวัฏจักรที่มี upside เหลือไม่มากนัก เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่ยังคงสูงขึ้น โดยมองว่าแรงเก็งกำไรจากกระแสเงินของนักลงทุนต่างชาติจะลดลง แม้ว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจลดลง แต่ความเสี่ยงเรื่องนโยบายเพิ่มขึ้น เมื่อการเติบโตลดลง เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น นโยบายการเงินตึงตัว จะทำให้ความผันผวนมากขึ้น อีกทั้งจากข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ไตรมาส 3 เป็นไตรมาสที่อ่อนแอที่สุด SET ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 0.7%

อย่างไรก็ตาม พบว่า หุ้นกลุ่มเชิงรับ รวมทั้งหุ้นเติบโต และหุ้นขนาดใหญ่ มักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด ดังนั้นจึงแนะนำให้สลับมาลงทุนหุ้นเชิงรับ และเป็นที่มาของหุ้นแนะนำ top picks ใน Q3/64 ของ SCBS ได้แก่

1) CRC คาดยอดขายใน Q2/64 เติบโตประมาณ 30% YOY จากฐานต่ำของปีก่อน และเติบโตเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. 64 จากฐานปกติหลังสาขาต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการ ซึ่งยืนยันการผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่ในครึ่งปีหลังจะได้อานิสงส์จากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยเฉพาะธุรกิจแฟชั่นและธุรกิจฮาร์ดไลน์ในประเทศไทย

2) GPSC กำไร 2Q64 จะปรับตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน (QOQ) จากการหยุดซ่อมบำรุงลดลง ต้นทุนก๊าซลดลง และการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้า GE เฟส 5 ขณะที่การระบาดของโควิด-19 รอบนี้กระทบต่ออุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมน้อยกว่าปีก่อน

3) PM คาดกำไร 2Q64 ลดลง QOQ ตามฤดูกาล แต่เติบโต YOY จากการที่บริษัทและคู่ค้ามีแผนออกสินค้าใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการขยายตัวแทนและศูนย์การกระจายสินค้า พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์

4) RJH คาดกำไร 2Q64 โตเด่น YOY จากรับรู้รายได้บริการตรวจโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง (net cash 66 ล้านบาท) อีกทั้งราคาหุ้นยัง laggard โดยปัจจุบันซื้อขายด้วย PER 64F และ 65F ที่ 22.7x และ 21.0x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 52.0x และ 35.4x ตามลำดับ

5) SFT คาดกำไร 2Q-4Q64 นิวไฮต่อเนื่อง หนุนจากอุปสงค์เติบโตในลูกค้าทุกกลุ่ม และกำลังการผลิตใหม่ที่เริ่มผลิตตั้งแต่ มิ.ย.

…แล้วพบกันใหม่ ในคอลัมน์ฉบับหน้า ด้วยรัก และหวังดี