บาทอ่อนค่าทะลุ 32.60 หลังตัวเลขติดเชื้อโควิดในประเทศพุ่ง 9,000 ราย

คุมโควิดระบาด-เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 32.60 บาท/ดอลลาร์ หลังตัวเลขติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศทะลุ 9,000 ราย ขณะที่ ศบค. ออกมาตรการสกัดกั้นการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ใน 10 จังหวัด ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 5-9 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (5/7) ที่ระดับ 32.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/7) ที่ระดับ 32.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นเกินคาดก็ตาม โดยในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (2/7) กระทรวงแรงงานสหรัฐได้เปิดเผยรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น 850,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 706,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 5.9% ในเดือนมิถุนายน สวนทางกับนักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลงสู่ระดับ 5.6% หลังจากอยู่ที่ระดับ 5.8% ในเดือนพฤษภาคม โดยการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐเป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าแล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินมากนัก

ค่าเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นในวันอังคาร (6/7) หลังจากนักลงทุนกลับเข้าถือครองค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และได้รับแรงหนุนต่อเนื่องในวันพุธ (7/7) ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐมีการเปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมิถุนายน โดยระบุว่า กรรมการเฟดได้หารือกันเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับลดวงเงินในโครงการ QE โดยกรรมการเฟดส่วนหนึ่งมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในขณะนี้ยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของเฟดที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเริ่มกลับมาดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงิน

นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังเล็งเห็นว่า แม้อัตราเงินฟ้อพุ่งขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่เชื่อว่าเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงท้ายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและทั่วโลก โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของยูโรและการเปิดเผยข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอของสหรัฐ

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 2,000 ราย สู่ระดับ 373,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 371,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 350,000 ราย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและทำสถิติสูงสุดใหม่ในทุกวัน ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์และแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปีกว่าที่ระดับ 32.65บาท/ดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ (9/7) เช่นเดียวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่พุ่งทะลุ 9,000 ราย

โดยหลังจากที่มีการพูดคุยในส่วนของมาตรการสกัดกั้นเชื้อโควิด-19 ในประเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ ในวันนี้ (9/7) ที่ประชุม ศบค.ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมกำหนดระยะเวลายกระดับมาตรการ 14 วัน จำกัดการเดินทางตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.) เป็นต้นไป โดยมีผลเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล 6 จังหวัด พร้อมกำหนดเป้าหมายลดผู้ป่วยภายใน 2-4 สัปดาห์และให้ขยาย พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน อีก 2 เดือน คือ สิงหาคม-กันยายน

โดย ศบค.ขอให้เวิร์กฟรอมโฮม (WFH) 100% ยกเว้นงานบริการที่จำเป็นและงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค และขอให้ประชาชนงดการเดินทางโดยไม่จำเป็น ยกเว้นเดินทางไปซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

พร้อมขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัด ไม่ออกนอกเคหะสถานช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็น โดยให้ห้างสรรพสินค้าเปิดได้เฉพาะส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกขายยา แผนกอาหาร แผนกสินค้าเบ็ดเตล็ด ส่วนร้านสะดวกซื้อจะมีกำหนดเวลาเปิด-ปิด

ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.10-32.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 32.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (5/7) ที่ระดับ 1.1860/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/7) ที่ระดับ 1.1827/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 59.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 57.1 ในเดือนพฤษภาคม

ก่อนที่ค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์จากการเปิดเผยตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประจำเดือนพฤษภาคม ซึ่งลดลง 3.7% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.9%

รวมทั้งการที่สถาบันโรเบิร์ต คอช (RKI) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนีในการควบคุมโรคติดเชื้อได้ออกมาเปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเยอรมนีลดลง 10.7% ที่ระดับ 616,396 รายในช่วงสุดสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในคืนวันพฤหัสบดี (8/7) ภายหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศปรับเป้าหมายเงินเฟ้อ พร้อมกับเปิดเผยบทบาทใหม่ของทางธนาคารในการร่วมมือแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งถือเป็นการยกเครื่องนโยบายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 23 ปีของการก่อตั้ง ECB

โดย ECB เปิดเผยว่า ทางธนาคารจะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายเงินเฟ้อจากเดิมที่กำหนดให้ “อยู่ใกล้แต่ไม่เกินระดับ 2%” โดยปรับเป็น “อยู่ที่ระดับ 2%” แต่ ECB จะใช้ความยืดหยุ่น โดยจะอนุญาตให้เงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สามารถดีดตัวขึ้นสูงกว่า 2% หากมีความจำเป็น

อย่างไรก็ดี ECB ชี้แจงว่า ภายใต้บางสถานการณ์ที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายการเงินอย่างเข้มข้นและอย่างต่อเนื่อง เงินเฟ้อสามารถดีดตัวขึ้นชั่วคราวเหนือระดับเป้าหมาย

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1784-1.1865 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 1.1841/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (5/7) ที่ระดับ 111.08/09 เยน/ดอลลาร์สหรับ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/7) ที่ระดับ 111.44/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งนักลงทุนยังเข้าถือเยนในฐานะสกุลปลอดภัย ภายหลังตลาดผิดหวังกับอัตราการว่างงานของสหรัฐ

ทางด้านกระทรวงฝ่ายกิจการภายในประเทศและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 11.6% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนเมษายน แต่หากเทียบเป็นรายเดือน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนพฤษภาคม ลดลง 2.1% จากเดือนเมษายน และเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนถือเป็นดัชนีชี้วัดการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนวัคซีนจากรัฐบาลกลางญี่ปุ่น จนอาจส่งผลให้การฉีดวัคซีนทั่วประเทศล่าช้า

โดยค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าในวันอังคาร (6/7) หลังจากนายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้แถลงการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะทำข้อตกลงทวิภาคีเพื่อแก้ปัญหาความต้องการวัคซีนเร่งด่วน หลังจากพบปัญหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาที่ผลิตในญี่ปุ่นยังไม่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับการใช้ในโครงการโคแวกซ์ (COVAX) โดยคาดว่าการขนส่งวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ครั้งแรกของญี่ปุ่นจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนนี้

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (8/7) นายอาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ออกมาเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวไปจนถึงวันที่ 22 สิงหาคม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่

ขณะที่ผู้จัดงานโตเกียว โอลิมปิกพิจารณาที่จะไม่อนุญาตให้ผู้ชมเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีกราว 2 สัปดาห์ โดยกรุงโตเกียวพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสูงถึง 920 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.58-111.18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 110.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ