จับสัญญาณสมรภูมิแบงก์ปี’61 ทุ่มงบหนัก อัพเกรดดิจิทัลแบงกิ้ง

ช่วงนี้แบงก์ต่าง ๆ พาเหรดเปิดแผนธุรกิจของปี 2561 ออกมากันแล้ว นำโดย 4 แบงก์พาณิชย์ใหญ่ ทิศทางที่ค่ายต่าง ๆ เดินไปข้างหน้าก็ยังคงเน้นความสำคัญด้าน “ดิจิทัลแบงกิ้ง” ส่วนใหญ่จะเป็นการยกระดับบริการที่ต่อยอดจากที่ออกให้บริการมากมายในปีนี้

แบงก์กรุงศรีฯถือเป็นแห่งแรก ๆ ที่รุก “ดิจิทัลแบงกิ้ง” มาต่อเนื่อง ซึ่ง “ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ฉายภาพว่า ปีหน้าการแข่งขันด้านดิจิทัลจะร้อนแรงดุเดือดมาก ภายใต้การนำเทคโนโลยี (ไอที) ใหม่ ๆ มาใช้ในบริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้ artificial Iintelligence (AI) หรือ machine learning ซึ่งจะเป็นอีกปีที่ทุกแบงก์ต่างต้องงัดกลยุทธ์ออกมาแข่งขันบนแพลตฟอร์มเดียวกันผ่าน “โมบายแบงกิ้ง” เป็นหลัก ซึ่งสมรภูมินี้คงลากยาวไปถึงปี 2562 เลยทีเดียว

สำหรับแบงก์กรุงศรีฯ ปีหน้าก็ใช้เทคโนโลยี AI หรือ machine learning มาใช้กับการดำเนินธุรกิจเพื่อใช้วิเคราะห์ ใช้ในผลิตภัณฑ์ให้ลึก และตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เพื่อหาลูกค้าใหม่ให้บริการใหม่ ๆ เพราะทุกสิ่งจะอยู่บนเส้นทางของโมบายเป็นหลัก และที่มากกว่านั้น ปีหน้าเราจะมีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า robo advisor มาเสริมประสิทธิภาพการลงทุนให้กับลูกค้าผ่านมือถือได้อีกด้วย

“ปีหน้าเชื่อว่าบรรยากาศการแข่งขันจะเป็นจุดที่พีก ทุกธนาคารจะพาเหรดปล่อยของออกมาโชว์ เรียกลูกค้าผ่านโมบายแบงกิ้งกันดุเดือด เราก็จะคลุกกับบิ๊กดาต้าของเรามากขึ้น เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาไปใช้กับบริการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปีหน้าจะเห็นอะไรใหม่ผ่านแอปพลิเคชั่นกรุงศรีฯ โดยจะผูกกับร้านค้าเพื่อให้สามารถรับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นใหม่นี้ได้ทันทีไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตและบัตรเดบิต” นายฐากรกล่าว

ขณะที่แม่ทัพใหญ่แบงก์ใบโพธิ์ “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างทำแผนงานปี 2561 ซึ่งต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์หลายอย่าง ภายใต้มุมมองที่ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะดีกว่าปีนี้ ทั้งจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคที่จะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แผนหลักของธนาคารยังตั้งเป้าไปสู่การลงทุนด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีกรอบงบฯลงทุนอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปีนับจากปีนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะช่วยยกระดับธนาคารให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขัน ผ่านรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการให้กับลูกค้าของธนาคารให้ครบทุกเซ็กเตอร์

พร้อมกันนี้เขาได้อัพเดตว่า ขณะนี้แบงก์ไทยพาณิชย์ได้นำ QR code เข้าไปอยู่ใน sandbox ของ ธปท. โดยคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะได้ออกจากแซนด์บอกซ์ และมาให้บริการร้านค้าได้ทั่วประเทศ ทางธนาคารตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100,000 ร้านค้าในสิ้นปีนี้ และ 500,000 ร้านค้าในสิ้นปีหน้า

“ธนาคารต้องมีการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถให้อยู่รอด และแข็งแรงมากขึ้น เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เช่น เรื่องรายได้ที่อาจจะลดลง ถือว่าเป็นโจทย์หลักที่ต้องปรับตัว” อาทิตย์กล่าว

ธนาคารกสิกรไทยเป็นอีกแบงก์ที่ประกาศบุก “ดิจิทัลแบงกิ้ง” เต็มตัว โดย “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการแบงก์ มองว่าในอนาคตธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกำลังเผชิญกับความท้าทาย โอกาสในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งล้วนมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจหลายด้าน ทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปทำธุรกรรมการเงินบนโลกออนไลน์มากขึ้น คู่แข่งทางธุรกิจที่มาในรูปฟินเทค ล้วนเป็นโจทย์สำคัญในปีหน้าที่ธนาคารต้องสร้างความแตกต่าง

และแนวทางที่กสิกรไทยกำลังเดินไปในปีหน้า คือ ความต้องการเป็น “customer”s life platform of choice” หรือเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งเดียวที่ลูกค้าเลือกเพื่อตอบโจทย์ทุกด้านของชีวิต โดยจะใช้ดิจิทัลแบงกิ้งมาขับเคลื่อนทุกด้าน ซึ่งเป้าหมายที่ธนาคารวางไว้คือ เพิ่มฐานลูกค้าด้านโมบายแบงกิ้ง เช่น เคพลัส (K PLUS)ที่คาดจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ 10.8 ล้านรายในปีหน้า จากสิ้นปี 2560 ที่คาด 8 ล้านราย

ทั้งนี้ ทุกการขับเคลื่อนต่างต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ดังนั้นในปีหน้ากสิกรไทยจะใช้งบฯลงทุนด้านไอทีราว 4-5 พันล้านบาท และส่วนหนึ่งจะแบ่งไปลงทุนในสตาร์ตอัพอีก 4 ราย และลงทุนผ่าน VC fund (venture capital fund) จำนวน 1 กองทุน โดยจะใช้งบฯราว 200-300 ล้านบาท

ฝั่งแบงก์ยักษ์ “เดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปีหน้าว่า ในยุคที่ทุกแบงก์ก้าวเข้าสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง แบงก์กรุงเทพเองก็คงเดินหน้าไปตามแนวทางนั้นด้วย ซึ่งเราก็จะใช้ดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนธนาคารมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด

อีกด้านที่สำคัญ คือ การหา “รายได้ใหม่ ๆ” ที่ธนาคารตั้งเป้าที่จะทำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) เพื่อทดแทนรายได้ค่าฟีส่วนที่หายไปกับการมาของธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การจับมือกับพันธมิตรด้านประกันกับเอไอเอ และปีหน้าจะเห็นชัดเจนขึ้นในเรื่องการมีพันธมิตรใหม่ด้านกองทุนรวม ที่จะเปิดขายของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แห่งอื่น ๆ มาขายผ่านเคาน์เตอร์ของแบงก์ได้ด้วย

“แผนธุรกิจปี”61 คาดสินเชื่อของแบงก์จะเติบโต 4-5% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน และยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายการเงินในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดเงินได้” นายเดชากล่าว

คงต้องจับตากันใกล้ชิดกับธุรกิจแบงกิ้งในปีหน้า อุณหภูมิแข่งขันจะร้อนแค่ไหนภายใต้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แบงก์จะวิ่งไล่ทันแค่ไหนเพื่อรักษาฐานลูกค้าไม่ให้ไหลออกไปหาคู่แข่งที่ไม่ใช่มีแค่แบงก์เท่านั้น แต่มีฟินเทคและรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น