“ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” ฉุดเศรษฐกิจไทย ธปท.หวั่นยืดเยื้อ หนุนคลังอัดเงินเพิ่ม

สถานการณ์โควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนยอดติดเชื้อใหม่ใกล้ทะลุหมื่นรายต่อวัน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตก็ใกล้ร้อยรายต่อวันอยู่รอมร่อ ระบบสาธารณสุขของไทยเริ่มรับไม่ไหว ทำให้รัฐบาลต้องงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” มาใช้อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยในเวทีประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 2/2564 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงผลกระทบดังกล่าว

ธปท.เร่งประเมินผล “ล็อกดาวน์”

โดย “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน กล่าวว่า ธปท.จะติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ จะพิจารณาว่าภายหลังจากมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ภาครัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ หรือสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายได้

“สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบและมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนับตั้งแต่เดือน เม.ย.จนถึงปัจจุบัน และเราคาดว่าจะอยู่ในเหตุการณ์นี้อีกสักระยะ โดย ธปท.จะติดตามประเมินผลกระทบและระบบการเงินเพื่อดูว่านโยบายการเงินเพียงพอหรือไม่และสามารถทำอะไรได้เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี นโยบายการเงิน การคลัง และด้านสาธารณสุข จะต้องร่วมมือกัน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้”

จับตาสารพัดปัจจัยเสี่ยงฉุดจีดีพี

“ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคกล่าวว่า ธปท.จะติดตามพัฒนาการผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ 14 วัน ที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้ชะลอกว่าคาดการณ์เดิม และติดตามการฉีดวัคซีนที่คาดไว้วันละ 3-4 แสนโดสด้วย

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเปราะบางของครัวเรือนที่มีหนี้ระยะสั้นต้องจ่ายดอกเบี้ยสูง แต่รายได้ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางและฟื้นตัวช้า โดยคาดว่าจะฟื้นตัวในลักษณะ W-shaped รวมถึงมาตรการทางการคลังและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในกรณีการระบาดมีความยืดเยื้อ ถือเป็นความเสี่ยงด้านต่ำจากที่ประเมินไว้

“การจะทบทวนตัวเลขจีดีพีที่ล่าสุดคาดการณ์ไว้ที่ 1.8% ต่อปี มีทั้งปัจจัยบวกและลบอย่างการเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินใหม่ 5 แสนล้านบาท เดิมมองว่าจะเบิกได้ 1 แสนล้านบาทในปีนี้ และปีหน้าเบิกได้อีก 2 แสนล้านบาท แต่หากสถานการณ์รุนแรงก็อาจจะเบิกได้ 5 แสนล้านบาทเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการส่งออก ผลกระทบจาก supply disruption ซึ่ง ธปท.กำลังเร่งประเมิน”

พร้อมใช้นโยบายการเงินเพิ่มเติม

ด้าน “สักกะภพ พันธ์ยานุกูล” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายการเงินกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวต่ำกว่าคาด โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ติดตามอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์รุนแรงพร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติม โดยในระยะ 6 เดือนข้างหน้ามีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก ทุกภาคส่วนต้องเร่งผลักดันมาตรการ โดยมาตรการเติมเงินและเยียวยาจะเป็นมาตรการสำคัญ

“มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะทำผ่านมาตรการรัฐ ส่วนมาตรการเติมเงินจะเป็นการเติมสภาพคล่องใหม่ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์ พักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระหนี้เดิม มาตรการแรงงานเพื่อรักษาการจ้างงาน และพยุงรายได้”

ล่าสุดความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟู ณ วันที่ 5 ก.ค. 2564 อนุมัติแล้ว 66,898 ล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 21,929 ราย วงเงินเฉลี่ย 3.1 ล้านบาท กระจายไปในเอสเอ็มอีไม่เกิน 5 ล้านบาท สัดส่วน 45% และในภูมิภาคต่างจังหวัด 68% คาดว่าจะได้ตามเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท ภายใน 6 เดือน ส่วนโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ แม้ว่ามูลค่าทรัพย์ที่โอนยังอยู่ที่กว่า 900 ล้านบาทเท่านั้น แต่ก็มีธนาคารส่งคำขอเข้ามาแล้วจำนวนมาก อยู่ระหว่างรอกฎหมายสิทธิประโยชน์ทางภาษีบังคับใช้ คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นล้านบาท

เล็งขยายขอบเขตช่วยเหลือธุรกิจ

นอกจากนี้ ธปท.ได้ปรับแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การขยายมาตรการพักชำระหนี้ให้เอสเอ็มอีถึงสิ้นปี 2564 สำหรับลูกหนี้ที่ประเมินกระแสเงินสดไม่ได้ ซึ่งมาตรการนี้จะไม่ได้ทำเป็นวงกว้าง แต่ให้ธนาคารพิจารณาตามความเหมาะสม และเน้นให้ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ผ่านแรงจูงใจเรื่องการจัดชั้นหนี้

ทั้งนี้ เพื่อที่ประคองดูแลระยะสั้นให้ลูกหนี้รอดไปก่อน และระยะยาวนโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และรองรับ economic shocks ในอนาคตได้ดีขึ้น

“ส่วนนโยบายการเงินจะทำอะไรเพิ่มเติมนั้น เราจะมองผลลัพธ์ของนโยบายว่าทำไปได้ถึงไหน ซึ่งในระยะสั้น space การเงินและการคลังยังมีอยู่ โดยธีมใหญ่ของเราคือ ดูแลหนี้เดิม และเติมสภาพคล่อง เพราะจะเห็นว่าภาคธุรกิจยังระดมทุนได้ดี สินเชื่อฟื้นฟูกระจายได้ดีขึ้น และรัฐบาลเองก็มีสินเชื่ออิ่มใจ มีมาตรการหลากหลาย แต่เราก็จะดูว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค เป็นคอขวด ก็มีการพูดคุยในเรื่องการขยายการรับความเสียหายชดเชย หรือลดค่าฟีต่าง ๆ สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง”

การคลังก่อหนี้เพิ่มได้อีก

ส่วนด้านการคลังนั้น “สักกะภพ” กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 60% ต่อ GDP ซึ่ง ธปท.มองว่าไม่ใช่ตัวเลขที่น่ากังวล เพราะในหลายประเทศก็มีหนี้สาธารณะค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีอันดับเครดิตที่ค่อนข้างดี ภาคเอกชนไม่ได้มีความกังวลเรื่องการก่อหนี้ของภาครัฐ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปี เฉลี่ยไม่ถึง 2%

“ในอนาคตหากรายได้กลับเข้ามา จะทำให้หนี้ไม่ได้เป็นประเด็น เพราะหนี้ของไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท จึงไม่มีแรงกระแทกรุนแรงหากเกิดประเด็นผลกระทบจากภายนอก”

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าอยู่แล้ว จะยิ่งลากยาวไปอีกนานแค่ไหน แล้วการออกมาตรการ “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” เพื่อหวังชะลอการระบาดของโควิดนั้น จะเป็นการเจ็บแต่จบ หรือเจ็บไม่รู้จบกันแน่