กังวลโควิด นักลงทุนซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หนุนดอลลาร์แข็งค่า

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

กังวลสถานการณ์โควิด นักลงทุนซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนดอลลาร์แข็งค่า สบน. ยันคลังยังมีแหล่งเงินกู้เพียงพอ หากรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/7) ที่ระดับ 32.65/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตาดเมื่อวันจันทร์ (12/7) ที่ระดับ 32.61/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้น

โดยเมื่อคืนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคสหรัฐคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 4.8% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สูงขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในเดือน พ.ค. แม้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายกล่าวก่อนหน้านี้ว่าเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในระยะนี้เป็นปัจจัยเพียงชั่วคราว

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีกำหนดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ, ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

โดยนายพาวเวลล์จะกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันที่ 14 ก.ค. และแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 ก.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า คลังยังมีแหล่งเงินกู้เพียงพอ หากรัฐบาลมีนโยบายออกมาตรการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม โดยปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้ยืม 1 ล้านล้านบาท ได้อนุมัติกรองวงเงินใกล้เต็มแล้ว และยังมีเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้านบาท ที่สามารถนำมาใช้เยียวยาได้

ส่วนจะมีการกู้เงินออกมาใช้เท่าไรในช่วงนี้ ต้องรอดูนโยบายว่าจะมีแผนใช้เงินเยียวยาเท่าไร รวมถึงจะมีการรปรับวงเงินจากโครงการท่ยังไม่ใช้จ่ายจาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท มาใช้เยียวยาหรือไม่ ซึ่ง สบน.ได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.55-32.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (13/7) ที่ระดับ 1.1864/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (12/7) ที่ระดับ 1.1859/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร คณะมนตรียุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ประกาศขยายเวลาคว่ำบาตรรัสเซียออกไปอีก 6 เดือน เนื่องจากรัสเซียยังคงไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพมินสค์

โดยผู้นำ EU มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการขยายมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียออกไป หลังจากที่รัสเซียประสบความล้มเหลวในการดำเนินการตามข้อตกลงสันติภาพมินสค์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในภูมิภาคดอนบาสส์

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.29-110.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐประจำเดือนมิถุนายน (13/7), ยอดส่งออก/นำเข้าของจีน ประจำเดือนมิถุนายน (14/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ประจำเดือนพฤษภาคม (14/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซนประจำเดือนพฤษภาคม (14/7), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐประจำเดือนมิถุนายน (14/7),

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีน ประจำไตรมาส 2 (15/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีน ประจำเดือนมิถุนายน (15/7), อัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักร ประจำเดือนพฤษภาคม (15/7), ดัชนีภาคการผลิตจาก Fed สาขา Philadelphia ประจำเดือนกรกฎาคม (15/7), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (15/7),

ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน (15/7), ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (16/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน ประจำเดือนมิถุนายน (16/7), ยอดค้าปลีกของสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน (15/7), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจากมหาวิทยาลับมิชิแกน (15/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.1/0.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรับ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 4/4.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ