“มงคล” พลิกฟื้น ธพว. สร้างไม้ค้ำยัน “ต้นอ่อนเอสเอ็มอี”

สัมภาษณ์

ผ่านมาปีครึ่งที่ “มงคล ลีลาธรรม” มารับภารกิจพลิกฟื้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ โดยหลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการมาตั้งแต่ปี’58 ตอนนี้มีลุ้นว่า ธพว.จะหลุดพ้นจากแผนได้เป็นแห่งแรก “ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้สัมภาษณ์พิเศษถึงความเป็นไปได้มานำเสนอ

Q : ภาพของแบงก์ตอนนี้เป็นอย่างไร

พนักงานให้ความร่วมมือดีมาก เกือบทุกส่วนงานมีความก้าวหน้า ปีที่แล้วเรามีสาขาที่มีประสิทธิภาพสูงแค่ 40% ของทั้งหมด 95 สาขา วันนี้ เพิ่มเป็น 60% แล้ว ซึ่งผมคิดว่าสิ้นปีนี้จะถึง 80% โดยผมกำหนดเป้าสินเชื่อให้สาขา 4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้ารวมของแบงก์ที่อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสาขาก็ไปกำหนดเป้าให้พนักงานรายบุคคลต่อ ก็จะต่างจากเมื่อก่อนที่ไม่กำหนด

เรากำหนดพันธกิจทำหน้าที่แบงก์เพื่อการพัฒนา เน้นรายย่อยกับสตาร์ตอัพที่เริ่มทำธุรกิจแล้วเข้าไม่ถึงแหล่งเงินจากแบงก์พาณิชย์ คนที่ไม่มีหลักประกัน ไม่มีสินทรัพย์ทางการค้า โดยเราดูว่าธุรกิจไปได้ แต่ขาดหลักประกัน เราก็ให้วงเงินเริ่มที่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ขยายได้อีกถึง 15 ล้านบาท ปัจจุบันปล่อยกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านบาทต่อราย ซึ่งถือเป็นรายย่อยจริง ๆ แล้วเราเน้นให้เอสเอ็มอีเข้าระบบด้วย คือ ต้องจดทะเบียนเป็นบริษัท และทำบัญชีเล่มเดียว ไม่งั้นเราไม่ช่วย

Q : แบ่งกลุ่มลูกค้าอย่างไร

ยุคผมแบ่ง 4 กลุ่ม ไม่ซ้ำซ้อนกับธนาคารพาณิชย์ และไม่ใช่รายใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มสตาร์ตอัพ 2.กลุ่มบุคคลที่จะเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล เรียกว่าสมาร์ทเอสเอ็มอี 3.กลุ่มนิติบุคคลที่มีศักยภาพสูง (High Potential) ซึ่งกลุ่มนี้แบงก์จะสนับสนุนให้ส่งออก พร้อมเข้าไปร่วมทุนราว 30-40 ล้านบาทต่อราย โดยครึ่งปีแรกแบงก์ได้ร่วมลงทุนแล้ว 300 ล้านบาท ครึ่งปีหลังตั้งเป้าอีก 700 ล้านบาท และ 4.กลุ่มเทิร์นอะราวนด์ ที่ต้องฟื้นฟูกิจการ

Q : ช่วยสตาร์ตอัพอย่างไร

กลุ่มนี้ แบงก์พาณิชย์เขาจะดูว่าทำธุรกิจมา 3 ปี แต่เราให้เริ่มใหม่เลยก็ได้ โดยต้องมีนวัตกรรม คือ โปรดักต์ บริการ และกระบวนการธุรกิจที่แตกต่าง หรือโดดเด่นกว่าคนอื่น แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องทำธุรกิจมาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งปี’59 เราปล่อยสินเชื่อไปราว 1,200 ล้านบาท เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อราย ยังไม่มีหนี้เสียเลย

โดยการช่วยเอสเอ็มอี เราจะทำ 3 มิติ ได้แก่ 1) ไม่ให้เงินอย่างเดียว แต่จะมีโปรแกรมการพัฒนาควบคู่กับบริการทางการเงิน เพราะเอสเอ็มอีเหมือนต้นอ่อนของต้นไม้ เงินเหมือนกับปุ๋ย ถ้าให้ปุ๋ย ไม่มีไม้ค้ำยัน เวลาเจอลมพายุก็ไปไม่รอด 2) เน้นลงพื้นที่เข้าไปหาเอสเอ็มอีตามชุมชนเป็น Local Economy และ 3) เชื่อมโยงกับหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่ 3.8 หมื่นล้านบาท ที่จะช่วยเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม ล่าสุดผ่านมา 2 เดือน มีคำขอเข้ามาแล้ว 2.4 หมื่นล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 7,000 ล้านบาท

Q : กระบวนการให้สินเชื่อปัจจุบัน

เรามีแบ่งแยกหน้าที่ หรือ Check and Balance เป็นฝ่ายตลาด ฝ่ายวิเคราะห์ ฝ่ายปฏิบัติการ และฝ่ายคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งเห็นชัดว่าในปีཷ ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ที่กลายเป็นหนี้เสียไม่ถึง 1% ถึงสิ้นปีอยู่ที่ 0.15% จนถึงตอนนี้ก็อยู่แค่ 0.3% เท่านั้น แยกเฉพาะช่วงที่ผมเข้ามาบริหาร แต่ถ้านับตั้งแต่เริ่มเข้าแผนฟื้นฟูเมื่อปีྲྀ จนถึง ณ สิ้น มิ.ย. 60 มีหนี้เสียราว 2.6% ก็ถือว่ายังต่ำด้านการอนุมัติสินเชื่อแบงก์ก็ทำได้เร็วขึ้น ซึ่งประมาณ 80% ไม่เกิน 30 วัน ตั้งแต่รับคำขอจนเบิกจ่าย จากเดิม 62 วัน นอกจากนี้ ยังอนุมัติได้ที่สาขาเลย เพราะไม่เกิน 15 ล้านบาท

Q : ความคืบหน้าแก้ NPL

หนี้เก่า ณ สิ้นปี 2559 เหลืออยู่ที่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท มาถึงกลางปีนี้อยู่ที่ 1.73 หมื่นล้านบาท ถึงสิ้นปีนี้เราตั้งเป้าลดให้เหลือ 1.66 หมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้า แล้วปีนี้ไม่มีตัดหนี้ขาย เราใช้วิธีการเข้าไปแก้เอง เรียกว่า แยกตะกอน กับตะกรัน คือถ้าเป็นตะกอน ก็ต้องใช้วิธีร่อน ส่วนตะกรันก็ต้องทุบ คือใช้กระบวนการทางศาล บังคับคดี ขายทอดตลาด รวมถึงกรณีไหนต้องฟ้องล้มละลายก็ต้องทำ เพื่อให้สะเด็ดน้ำ ถือว่าครึ่งปีแรก เราออกแรงเยอะ ทำไปได้ 2,500 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จริง ๆ แล้วหนี้ส่วนนี้ทั้งหมดมีอยู่กว่า 3,000 ล้านบาท แต่ส่วนที่เหลือให้ความร่วมมือมาชำระหนี้ ซึ่งในกลุ่ม 2,500 ล้านบาท ก็คาดว่าจะมีราว 80% กลับสู่กระบวนการชำระหนี้ได้ โดยจะเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้อีกครั้งที่ศาล

Q : แผนฟื้นฟูคืบหน้าไปด้วยดี

เราก็สามารถทำได้ครบตามที่วางไว้ จนถึงกลางปีนี้ ก็ทำได้ตามตัวชี้วัดหมด ทั้งสินเชื่อที่เบิกจ่ายได้กว่า 1.59 หมื่นล้านบาทแล้ว จากเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปีตั้งไว้ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนการลด NPL ก็ได้ตามเป้า ดังนั้นก็มีโอกาสเสนอให้ออกจากแผนฟื้นฟู แต่ก็ต้องขึ้นกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (คนร.)

Q : ถือว่ามีความยั่งยืนหรือยัง

ทิศทางแบงก์ชัดเจนแล้ว ว่ามุ่งรายย่อย ส่วนกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าตรวจสอบภายใน บริหารความเสี่ยง เราก็สร้างเครื่องกรองคุณภาพขึ้นมา ไม่มีหย่อนมาตรฐานเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งความยั่งยืนมี 3 เรื่อง คือ 1.เงินกองทุน ตอนนี้อยู่ที่ 12% ไม่น่าเป็นห่วง กรณีคดี FRCD ที่แบงก์แพ้ในขั้นอุทธรณ์ ก็ไม่กระทบ เพราะตั้งสำรองไว้แล้ว จะสู้ในขั้นฎีกาต่อไป 2.มั่นใจว่าจะไม่กลับไปเสียหายอีก และ 3.จะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมเทคโนโลยีทางการเงิน ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเหล่านี้ขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ คน เครื่องมือ และเทคโนโลยี