ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้นเกินคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 32.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/7) ที่ระดับ 32.61/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขการชี้วัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน เพิ่มสูงขึ้นที่ระดับ 0.9% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 0.5%

ทั้งนี้จากผลสำรวจของ Fedwatch Tool ของ CME Group พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาครกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมกราคม 2566 ที่ระดับความน่าจะเป็น 100% และเฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2565 ที่ระดับความน่าจะเป็น 90% นอกจากนี้ตลาดจับตาดูถ้อยแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดต่อคณะกรรมการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งเกี่ยวกับนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐในรอบครึ่งปี โดยจะจัดขึ้นในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ

สำหรับปัจจัยในประเทศ ในวันอังคารที่ผ่านมา (13/7) คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงการณ์อนุมัติการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการ 10 จังหวัดที่ได้ทำการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยใช้วงเงิน 42,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท และมาตรการลดค่าครองชีพโดยลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 2 เดือนในวงเงิน 12,000 ล้านบาท โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.63-32.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (14/7) ที่ระดับ 1.1776/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/7) ที่ระดับ 1.1838/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากวันอังคารที่ผ่านมา (13/7) นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงการณ์ว่า อีซีบีจะไม่ทำการคุมเข้มนโยบายทางการเงินที่เร็วเกินไป แม้ว่าตลาดถูกกดดันจากปัจจัยการเพิ่มสูงขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐก็ตาม

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติประจำสหราชอาณาจักรได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรเทียบปีต่อปี ประจำเดือนมิถุนายนที่ระดับ 2.5% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ 2.2% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.772-98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1784/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 110.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (13/7) ที่ระดับ 110.27/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนเข้าถือครองดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่าหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นและแนวโน้มที่เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นนั้น อาจส่งผลให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและญี่ปุ่นปรับตัวกว้างขึ้น

ทั้งนี้สถาบัน METI ได้เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเทียบเดือนต่อเดือน ประจำเดือนพฤษภาคมที่ระดับ -6.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ ณ ระดับ -5.9% นอกจากนี้ตลาดจับตาการประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันศุกร์ (16/7) โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.40-110.69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.49/52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีนประจำไตรมาส 2 (15/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนประจำเดือนมิถุนายน (15/7), อัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักรประจำเดือนพฤษภาคม (15/7), ดัชนีภาคการผลิตจาก Fed สาขา Fhiladelphia ประจำเดือนกรกฎาคม (15/7), จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ครั้งแรกของสหรัฐ (15/7), ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐประจำเดือนมิถุนายน (15/7), ยอดค้าปลีกของสหรัฐประจำเดือนมิถุนายน (15/7), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (15/7), ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (16/7) และดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายน (16/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.0/0.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.4/3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ