แบงก์พาณิชย์-แบงก์รัฐ ขานรับมาตรการด่วน ธปท. พักหนี้ SME-รายย่อย 2 เดือน

แบงก์พาณิชย์-แบงรัฐ ตบเท้าจัดมาตรการด่วนตามแนวทางของ ธปท. พักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี-ลูกค้ารายย่อย ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการล็อกดาวน์ ชี้ลูกค้ายื่นความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.-15 ส.ค. 64 พร้อมช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรายอื่นตามมาตรการที่มีอยู่ถึงสิ้นปี’64

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) และธนาคารสมาชิกทุกแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้และเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมให้แก่ลูกจ้างและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์

จึงเห็นร่วมกันที่จะออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุม และนอกพื้นที่ควบคุม ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันทีเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือ ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้

การให้ความช่วยเหลือตามแนวทางข้างต้น ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้ หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) และธนาคารสมาชิกทุกแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะร่วมกันเร่งรัดและผลักดันการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด

แบงก์กรุงเทพเด้งรับนโยบายพักหนี้ 2 เดือน

ขณะที่นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดกรอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ธนาคารจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่ลูกค้า ด้วยการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยสามารถลงทะเบียนเข้าขอรับมาตรการดังกล่าวผ่านหลากหลายช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมถึง 15 สิงหาคม 2564

“ลูกค้าที่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ เป็นได้ทั้งลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี และลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการและอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

ซึ่งเบื้องต้นออกประกาศจำนวน 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา โดยลูกค้าสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สำนักธุรกิจและสาขาธนาคารทั่วประเทศ และบัวหลวงโฟน โทร.1333 หรือ 0-2645-5555 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันความเสี่ยง สามารถลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ www.bangkokbank.com และ โมบายแบงกิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ”

สำหรับลูกค้าที่ยังสามารถเปิดดำเนินกิจการ แต่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ที่ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ ธนาคารพร้อมให้คำปรึกษาและนำเสนอความช่วยเหลือตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกค้าอย่างเต็มที่

นายสุวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ออกมาก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังคงดำเนินมาตรการที่สามารถรองรับลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม และได้ขยายระยะเวลาไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและทันเวลา ทุกครั้งเมื่อมีการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ก็จะเข้าไปศึกษาผลกระทบและเตรียมแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือให้คลอบคลุมเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังมีมาตรการปกติที่เตรียมพร้อมเข้ามาช่วยดูแลหลังจากผ่านช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ลูกค้าสามารถก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้ ซึ่งธนาคารพร้อมเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่อยู่เคียงข้างและก้าวไปด้วยกันในทุกสถานการณ์

ธนาคารกรุงไทยช่วยลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบปิดกิจการ โดยพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 2 เดือน เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค. 64 สำหรับลูกหนี้ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุม และนอกพื้นที่ควบคุม ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมของทางการ

ทั้งนี้ ลูกค้าแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่ 19 ก.ค.-15 ส.ค. 64 ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือหน่วยงานที่ดูแลสินเชื่อของท่าน สอบถามเพิ่มเติม Krungthai Contact Center 0-2111-1111

กรุงศรีคอนซูมเมอร์ พักหนี้ กลุ่มบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ขานรับนโยบาย ธปท. ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบล็อกดาวน์ในพื้นที่ 10 จังหวัด พร้อมมาตรการเสริมขยายเวลาชำระหนี้นาน 99 เดือน ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หวังบรรเทาความเดือดร้อนลูกค้าบัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า กล่าวว่า “จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ในฐานะผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รู้สึกห่วงใยและพร้อมจะช่วยลดภาระของลูกค้า จึงได้ขานรับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุด 2 รอบบัญชี โดยต้องลงทะเบียนเพื่อขอเข้าร่วมมาตรการ

สำหรับสมาชิกบัตรเครดิตและลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พนักงาน ลูกจ้าง หรือเจ้าของกิจการที่อยู่ในธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด หรือได้รับผลกระทบจากธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของทางราชการ

โดยสามารถลงทะเบียนเพื่อขอเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม ถึง 18 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม จากมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ของบริษัท เช่น ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาผ่อนชำระเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น ซึ่งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถติดต่อลงทะเบียนกับบริษัทเพื่อขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือเหล่านี้ได้ โดยจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี”

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ มีรายละเอียดดังนี้

มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม:
• มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนานสูงสุด 2 รอบบัญชี โดยต้องลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
สำหรับสมาชิกที่มีบัญชีบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลกับกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ซึ่งมีสถานะบัญชีปกติ และเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามประกาศของภาครัฐ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงสุด 10 จังหวัด โดยดอกเบี้ยยังคงคำนวณตามอัตราปกติแบบลดต้นลดดอก ทั้งนี้ สถานะบัญชีของลูกค้าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนแปลง

สามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าวผ่านทางศูนย์บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ หรือ
แอปพลิเคชัน UChoose ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม ถึง 18 สิงหาคม 2564 โดยจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี

มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อื่น ๆ

มาตรการที่ 1: มาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าทุกราย-ลดยอดชำระขั้นต่ำต่อเดือน
• ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตจากเดิม 10% เหลือ 5% ตามรอบบัญชี ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง
• ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลจากเดิม 5% เหลือ 3% ตามรอบบัญชี ถึง 31 ธันวาคม 2564 สำหรับลูกค้าทุกราย โดยมิต้องติดต่อแจ้งความจำนง

มาตรการที่ 2 : มาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ – ปรับลดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ และขยายเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลูกค้าต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนง และจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี

• ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายเวลาการผ่อนชำระนานสูงสุด 48 เดือน

• ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล
กรณียอดสินเชื่อคงค้างน้อยกว่า 30,000 บาท รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือเพียง 3%

กรณียอดสินเชื่อคงค้าง 30,000 บาทขึ้นไป รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และลดภาระการชำระคืนด้วยการขยายเวลาการผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือน

ทั้งนี้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนรับพิจารณาความช่วยเหลือดังกล่าว ผ่านแอปพลิเคชั่น UChoose ตั้งแต่ 20 พฤษภาคม-31 ธันวาคม 2564

มาตรการที่ 3: มาตรการช่วยเหลือสำหรับลูกหนี้ค้างชำระ-ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือน โดยขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระนานสูงสุด 99 เดือน พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต และสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคล โดยลูกค้าสามารถแจ้งความจำนงมายังบริษัท

 

กรุงไทย จัดแพ็กเกจ 7 มาตรการช่วยลูกหนี้

นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบและความจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ของทางการ จึงได้ออกมาตการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้า เอสเอ็มอีและรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
มาตรการนี้สำหรับลูกค้าธนาคาร

ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้ มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยลูกค้าเอสเอ็มอี-รายย่อยที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ สามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ถึง 15 สิงหาคม 2564 ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หรือ หน่วยงานที่ดูแลสินเชื่อของท่าน

“การออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในครั้งนี้ เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า ในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงธนาคารยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือคู่ค้าและพันธมิตรของลูกค้าตลอดจนห่วงโซ่ธุรกิจ โดยธนาคารยังมีมาตรการสำหรับลูกค้าบุคคล ลูกค้าผู้ประกอบการ SME และลูกค้าธุรกิจ เพื่อช่วยลูกค้าธนาคารให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ซึ่งมีทั้งหมด 7 มาตรการ”

มาตรการลูกค้าบุคคล 3 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (สินเชื่อ Home for Cash, สินเชื่อ Home Easy Cash, สินเชื่อกรุงไทยบ้านให้เงิน) วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยบางส่วน สูงสุด 12 เดือน หรือ ขยายระยะเวลาโดยลดอัตราผ่อนชำระ สูงสุด 12 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย สูงสุด 3 เดือน

มาตรการที่ 2 สินเชื่อส่วนบุคคล วงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ลดการผ่อนชำระค่างวดลง 30% นานสูงสุด 6 เดือน

มาตรการที่ 3 สินเชื่อวงเงินกู้แบบหมุนเวียน (Revolving Loan) ได้แก่ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ 5 Plus ปรับเป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา (Term Loan) ได้นาน 48 งวด หรือตามความสามารถในการชำระหนี้

มาตรการลูกค้าธุรกิจ 4 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2 ปีแรก ไม่เกิน 2% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี) ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมทั้งได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นานสูงสุด 10 ปี

มาตรการที่ 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SME

• ลูกค้าที่มีสินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อประเภท Term Loan พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 6 เดือน หรือ ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 24 เดือน สำหรับสินเชื่อประเภท P/N และTrade Finance ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน

• ลูกค้าที่มีสินเชื่อธุรกิจ วงเงินกู้ 20-500 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อประเภท Term Loan พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ยสูงสุด 12 เดือน สำหรับสินเชื่อประเภท P/N และTrade Finance ขยายเวลาชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน

มาตรการที่ 3 มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และให้สิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต ในราคารับโอนบวกต้นทุนการถือครองทรัพย์ (Carrying Cost) 1 % ต่อปี บวกค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์ที่ธนาคารจ่ายตามจริง หักค่าเช่าทรัพย์หลังตีโอนที่ลูกค้าชำระมาแล้ว

มาตรการที่ 4 โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง สำหรับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงิน 50-500 ล้านบาท โดยพิจารณา ตามความสามารถและศักยภาพของลูกค้า เช่น ปรับลดการผ่อนชำระ ยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ ตลอดจนการเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่มีแผนธุรกิจชัดเจนภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร

สำหรับลูกค้าที่สนใจศึกษาข้อมูลมาตรการช่วยเหลือของธนาคารที่ www.krungthai.com/link/covid-19 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา หน่วยงานที่ดูแลสินเชื่อของท่าน หรือ Krungthai Contact Center 02-111-1111

แบงก์กรุงศรี อุ้มลูกหนี้ถูกล็อกดาวน์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เดินหน้าออกมาตรการเร่งด่วนพักชำระทั้งเงินต้น-ดอกเบี้ยระยะเวลา 2 เดือน ช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SME ที่ต้องปิดกิจการจากผลกระทบของโควิดตามมาตรการภาครัฐ เริ่มได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME กล่าวว่า ธนาคารได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดและผลกระทบกับลูกค้าของธนาคารมาโดยตลอด ซึ่งในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารได้มีการหารือร่วมกันกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหาแนวทางเร่งด่วนในการช่วยเหลือที่ตรงจุดและรวดเร็ว

จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือใหม่ให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม สามารถพักชำระหนี้ได้เป็นระยะเวลา 2 เดือนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เริ่มได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป สำหรับ SME ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ต้องปิดกิจการในพื้นที่ควบคุมฯ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมถึง SME นอกพื้นที่ควบคุมที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ

อย่างไรก็ตามสำหรับ SME ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมจนทำให้ยอดขายลดลงแม้ไม่ปิดกิจการ ธนาคารก็พร้อมให้ความช่วยเหลือในรูปแบบมาตรการอื่น ๆ ที่มีอยู่ตามความเหมาะสมของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์พักหนี้ การพักชำระเงินต้น พักชำระค่างวด ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และปรับประเภทวงเงินสินเชื่อ”

โดยลูกค้า SME ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ละรายจะได้รับการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีแนวทางการเรียกเก็บเป็นไปตามนโยบายธนาคาร และอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ธนาคารให้การพักชำระหนี้ เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ มิใช่อัตราดอกเบี้ยผิดนัด และการพักชำระหนี้นี้ไม่ถือเป็นเหตุแห่งการผิดนัดเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญา และไม่ถือเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

นางสาวดวงกมลกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ยังคงเป็นปีที่ท้าทายจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น กรุงศรียังคงอยู่เคียงข้างในฐานะพันธมิตรที่พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบผ่านหลากหลายมาตรการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ไปได้

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือจะต้องเป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SME ของธนาคารที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด ที่ต้องปิดกิจการในพื้นที่ควบคุมฯ 10 จังหวัด รวมถึงที่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมฯที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เช่น ร้านนวด-สปา ร้านเสริมความงาม ร้านขายของในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น และไม่มีสถานะเป็น NPL ณ วันที่แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถขอเข้าร่วมโครงการผ่านช่องทางต่างๆของธนาคารได้ตั้งแต่ 19 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2564

ธอส. จัดเต็มพักหนี้สินเชื่อบ้าน ทั้งต้นทั้งดอกนาน 3 เดือน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีนโยบายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้จัดทำมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs และลูกหนี้รายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ธอส. จึงได้จัดทำ 2 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

คือ ลูกค้าทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ผ่าน “โครงการ ธอส. รวมไทยสร้างชาติ ปี 2564” ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางด้านรายได้จากการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ/การค้า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และยังไม่สามารถผ่อนชำระเงินงวดได้ ซึ่งมีรายละเอียดความช่วยเหลือ ประกอบด้วย

มาตรการที่ 15 [M 15] : พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564 สำหรับลูกค้าที่มีสถานะบัญชีปกติ และไม่อยู่ระหว่างการประนอมหนี้หรือสถานะกฎหมาย

มาตรการที่ 16 [M 16] : พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2564 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะ NPL (ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน ) หรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับดอกเบี้ยที่พักชำระเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่างการใช้มาตรการที่ 15 และ 16 ลูกค้าสามารถทยอยชำระให้เสร็จสิ้นก่อนวันครบกำหนดสัญญากู้เงิน หรือ ปิดบัญชี โดย ธอส. จะเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. – วันที่ 29 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น.

และจะต้อง Upload หลักฐานยืนยันการได้รับผลกระทบทางรายได้ผ่านทาง Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy ให้ธนาคารพิจารณา เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ภาพถ่าย หรือ Statement เป็นต้น ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ Application : GHB ALL

ทีเอ็มบีธนชาต พักชำระหนี้ 2 เดือนให้ลูกค้าถูกล็อกดาวน์

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เดินหน้ามาตรการ “ตั้งหลัก” เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติมแก่ลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยล่าสุด ธนาคารออกมาตรการพิเศษตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันการควบคุมโรค ตามคำสั่งของ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) โดยพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับลูกค้าบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถยนต์ ทีทีบีไดรฟ์

และลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ประกอบด้วย ลูกค้าที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ ทั้งในพื้นที่ควบคุม และนอกพื้นที่ควบคุมที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ และมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ซึ่งเป็นลูกค้าที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินและช่วยให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้ในสถานการณ์วิกฤต โดยธนาคารมีแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้

มาตรการสำหรับลูกค้าบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคล ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สามารถพักชำระค่างวด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นาน 2 เดือน หลังจากได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ โดยหลักเกณฑ์เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

และสำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ธนาคารจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยพิจารณาจากความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย เช่น การลดยอดผ่อนชำระเหลือ 70% ของยอดผ่อนชำระปกติ หรือ พักชำระเงินต้นโดยผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน หรือเปลี่ยนยอดคงค้างในบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด เป็นยอดผ่อนชำระ 48 เดือน เป็นต้น

มาตรการสำหรับลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ ทีทีบีไดรฟ์ โดยในกลุ่มรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้ว รถแลกเงิน และเล่มแลกเงิน (รถแลกเงินแบบลดต้นลดดอก) สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบรุนแรงหรือต้องปิดกิจการ หรือไม่สามารถให้บริการได้ ตามคำสั่งของ ศบค. ธนาคารจะมีมาตรการพิเศษ พักชำระค่างวดสูงสุดไม่เกิน 2 งวด สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารจะพิจารณาตามความเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย เช่น พักชำระค่างวด ลดค่างวด และขยายเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น และในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม ธนาคารจะพิจารณา ลดค่างวด หรือขยายเวลาผ่อนชำระ หรือมาตรการอื่น ๆ

นอกจากนี้ สำหรับลูกค้าสินเชื่อเล่มแลกเงิน (รถแลกเงินแบบลดต้นลดดอก) ที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารมีมาตรการให้พักชำระค่างวด หรือลดค่างวดผ่อนชำระสูงสุด 30% และคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 22% เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

มาตรการสำหรับลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินกู้ระยะยาว วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (O/D) และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน ธนาคารจะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด นาน 2 เดือน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งธนาคารมีความห่วงใยลูกค้าทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยพร้อมจะช่วยเหลือและยืนหยัดเคียงข้างไปกับลูกค้า เพื่อก้าวข้ามสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน และสามารถต่อยอดสร้างชีวิตทางการเงินที่ดี ทั้งในวันนี้และอนาคต

ลูกค้าที่สนใจศึกษาข้อมูลมาตรการช่วยเหลือของธนาคารและต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2564 โดย

• ลูกค้ารายย่อยลงทะเบียนผ่านโครงการ “ตั้งหลัก” ในเว็บไซต์ www.ttbbank.com/tang-luk
• ลูกค้าเอสเอ็มอี (นิติบุคคล) และลูกค้าธุรกิจ ลงทะเบียน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เจ้าหน้าที่บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าธุรกิจ หรือ ศูนย์บริการลูกค้าธุรกิจ ทีทีบี โทร. 0 2643 7000 กด 1 กด 2

อีเมล:[email protected] (ระบุข้อมูล: ชื่อบริษัท/เลขจดทะเบียนนิติบุคคล (13 หลัก)/ชื่อ-นามสกุลผู้ติดต่อ/เบอร์โทรศัพท์มือถือ)

• ลูกค้าเอสเอ็มอี (บุคคลธรรมดา) ลงทะเบียน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ทีเอ็มบีธนชาต คอนแทค เซ็นเตอร์ โทร. 1428 กด 3 กด 2