ชักแถวหั่นเป้า “GDP” เวิลด์แบงก์หวั่น “ล็อกดาวน์” ยืดเยื้อ

เศรษฐกิจ-GDP

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ในประเทศไทยที่รุนแรงขึ้น และมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อ จนรัฐบาลต้องงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” กลับมาใช้อีกรอบ หลังจากเคยใช้มาแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำให้สำนักพยากรณ์ด้านเศรษฐกิจพากันปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2564 นี้ลง

โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย นำร่องปรับลดประมาณการจีดีพี ปี 2564 เหลือโตได้ในช่วง 0.5-1.3% จากเดิมคาด 0.8-1.6% ซึ่งปัจจัยผลกระทบต่อการปรับประมาณการจีดีพีครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเดินทางที่ไม่สามารถทำได้เลย ส่งผลกระทบต่ออัตราการจองห้องพัก

โดย “ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 มีความรุนแรงและจำนวนผู้ติดเชื้อสูงกว่าประมาณการเดิม ธนาคารจึงได้ปรับประมาณการจีดีพีลงอีกครั้ง หลังจากเมื่อเดือน พ.ค. ประเมินว่าจีดีพีจะโตได้ 0.8-1.6%

“โอกาสที่จีดีพีอยู่ในโซนติดลบได้ แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์ว่าจะรุนแรงแค่ไหน เนื่องจากรอบที่ประมาณการในเดือน พ.ค.ยังไม่รุนแรง แต่ผ่านมา 2 เดือน สถานการณ์ระบาดรุนแรงขึ้น” ดร.พชรพจน์กล่าว

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ลงอยู่ที่ 1.0% จากประมาณการเดิมที่ 1.8% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงกว่าที่เคยประเมิน

ส่งผลกระทบให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัด จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมีมากขึ้น

และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม ในขณะที่มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐ คาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชน แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน

รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่อาจต่ำกว่าเป้าหมายโดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่คลี่คลายลงคาดว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน

หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ๆ เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า จากมาตรการล็อกดาวน์ 10 จังหวัด ทำให้ความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้น และกระทบต่อประมาณการจีดีพีไทยในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดได้เข้าสู่กรณีเลวร้ายสุดของแบบจำลองที่วิจัยกรุงศรีประมาณการไว้

โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันใกล้แตะระดับ 10,000 คน ในช่วงต้นเดือน ก.ค. ภายใต้สมมุติฐานว่าการติดเชื้อของไทยในระยะข้างหน้ามีสาเหตุหลักจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าและเบต้า

ดังนั้น ข้อมูลรูปแบบการติดเชื้อจึงอ้างอิงจากประเทศอินเดียและแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การคาดการณ์เป้าหมายการฉีดวัคซีนไว้ที่ 250,000 โดสต่อวันจนถึงสิ้นปีนี้

ผนวกกับผลของมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นล่าสุด คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงอย่างช้า ๆ นับตั้งแต่เดือน ส.ค.

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี ชี้ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยเฉพาะภายหลังจากเดือนกันยายนซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเป็นอย่างน้อยที่ 25-30 ล้านคน หรือราว 40% ของประชากร

ด้านธนาคารโลก “นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าจะควบคุมได้ จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ยาวจนไตรมาส 3 ของปีนี้ จะถือเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด

โดยจะส่งผลกระทบทำให้จีดีพีปีนี้โตลดลงเหลือ 1.2% จากปัจจุบันคาดว่าจีดีพีจะโตได้ 2.2% ส่วนปี 2565 การเติบโตจะลดลงเหลือ 2.1% จากปัจจุบันคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 5.1%

“ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ ๆ รวมถึงสายพันธุ์ที่แรงขึ้น และการกลายพันธุ์ของไวรัสซึ่งจะทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ยากยิ่งขึ้น

รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเรื่องการจัดซื้อและกระจายวัคซีนที่ล่าช้ากว่าคาดการณ์มาก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ หรือลดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกได้” นายเกียรติพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ส่งสัญญาณว่า จะปรับประมาณการจีดีพีลงอีกครั้ง แม้ว่าจะเพิ่งปรับลดประมาณการเหลือเติบโตได้ 1.8% ไปหมาด ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ตาม