ประธานเฟดยันไม่ลดวงเงิน QE จนกว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวเต็มศักยภาพ

หุ้น-ดอลลาร์ สหรัฐ

ประธานเฟดยืนยันไม่ลดวงเงิน QE จนกว่าตลาดแรงงานฟื้นตัวเต็มศักยภาพ ขณะที่ปัจจัยในประเทศ นักลงทุนยังติดตามความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาด ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าสุดในรอบ 15 เดือน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม-16 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (12/7) ที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 32.56/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐดีดตัวเหนือระดับ 92.00 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาสอดรับการเปิดเผยข้อมูลที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และความคาดหวังต่อการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในรูปแบบของการลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์สำหรับมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นดอกเบี้ย

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนก่อนหน้า เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ขยายตัว 5.4% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนพฤษภาคม

หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน และพุ่งขึ้น 4.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2534 สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ขยายตัว 1.0% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.6% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนก่อนหน้า เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 7.3% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์เดือนที่ 2 ติดต่อกัน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.8% หลังจากปรับตัวขึ้น 6.6% ในเดือนพฤษภาคม

ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน และ 5.6% เมื่อเทียบรายปี สำหรับภาคแรงงานและการผลิต กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 360,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 จากระดับ 386,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ขณะที่เฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกร่วงลงสู่ระดับ 21.9 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จากระดับ 30.7 ในเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 28.0 เป็นผลกระทบจากการร่วงลงของการจ้างงาน แต่ดัชนียังอยู่เหนือระดับ 0.0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกยังคงมีการขยายตัว

ในส่วนของเฟดสาขานิวยอร์ก รายงานว่าดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) พุ่งขึ้น 25.6 จุดสู่ระดับ 43.0 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากสุดในรอบ 1 เดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.0 โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน

นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมกราคม 2566 หลังจากการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งเกินคาด อย่างไรก็ดี ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเริ่มถูกเทขายทำกำไรในวันพุธ (14/7) หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรส

โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า เฟดจะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และจะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่ระดับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในระยะนี้เกิดจากปัจจัยชั่วคราวจากการที่รัฐต่าง ๆ ทำการเปิดเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก่อนที่จะปรับตัวลงเมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ กลับสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าการที่เฟดกลับมาดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเริ่มทวีความรุนแรงหลังจากการประชุมเฟดรอบล่าสุดในเดือนที่แล้ว แม้ว่านายพาวเวลล์จะไม่ได้กล่าวถึงในแถลงการณ์ก็ตาม ดัชนีดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (15/7) จากแรงหนุนในส่วนของตลาดแรงงาน

โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกประจำเดือนมิถุนายนในวันศุกร์ (16/7) ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในเดือนพฤษภาคม

สำหรับปัจจัยในประเทศ ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโวิด-19 หลังจากทางการไทยประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ระบาดสูง 10 จังหวัด ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.51-32.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (12/7) ที่ระดับ 32.73/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (12/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1875/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 1.1854/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุเป้าหมายการส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เพียงพอให้กับประชาชนวัยผู้ใหญ่จำนวน 70% แล้วเป็นวัคซีนไบโอเอนเทค-ไฟเซอร์ 330 ล้านโดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 100 ล้านโดส วัคซีนโมเดอร์นา 50 ล้านโดส และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 20 ล้านโดส

ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1772-1.1881 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/7) ที่ระดับ 1.1819/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (12/7) ที่ระดับ 110.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/7) ที่ระดับ 110.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยทางการญี่ปุ่นได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 4 ในกรุงโตเกียวตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 สิงหาคม ซึ่งครอบคลุมช่วงการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคมถึง 8 สิงหาคมนี้

ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมวันศุกร์ (16/7) ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0%

พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์แนวโน้มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของญี่ปุ่นในปี 2564 ลดเหลือ 3.8% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.0% แต่ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานขึ้นสู่ระดับ 0.6% ในปี 2564 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 0.1%

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.71-110.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/7) ที่ระดับ 110.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ