บัตรเครดิตกับดอกเบี้ยที่มหาโหด (จบ)

ภาพ Pixabay

พินิจ พิเคราะห์

กิติชัย เตชะงามเลิศ www.facebook.com/vi.kittichai

บทความตอนที่แล้ว ผมพูดถึงโทษของการใช้บัตรเครดิตให้เป็น เกี่ยวกับการชำระบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน หรือการชำระบางส่วน และชี้ให้เห็นถึงส่วนต่างของดอกเบี้ยของผู้ให้บริการที่มี Margin ที่สูงมาก ดังนั้นถ้าอยากจะรักษาความมั่งคั่งของตัวเอง ควรจะเลือกที่จะชำระค่าบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทางด้านดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ด้วยอัตราที่สูง

สรุปง่าย ๆ คือไม่นำเงินในอนาคตที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายมาใช้โดยเด็ดขาด เพราะโดยปกติการใช้บัตรเครดิตรูดซื้อสินค้าหรือบริการ ถ้าเป็นวันเริ่มต้นของรอบบิลก็อาจจะยืดเวลาการชำระเงินไปได้อีกมากสุดถึง 50 วัน ซึ่งถ้ามั่นใจว่าพอถึงวันครบกำหนดที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายบัตรเครดิต แล้วมีเงินเพียงพอที่จะชำระเต็มจำนวน ก็ควรจะใช้บัตรเครดิตรูด เพราะนอกจากจะได้ชำระเงินช้าลงโดยที่ไม่เสียดอกเบี้ยแล้ว ยังได้ Point สะสมเอาไว้แลกของรางวัลได้อีกด้วย แต่ต้อง “ท่องให้ขึ้นใจ” ว่า จะไม่ซื้อสินค้าหรือบริการที่มีราคาสูง และเสื่อมมูลค่าในอนาคตโดยไม่จำเป็น เพราะจะเป็นการบั่นทอนความมั่งคั่งของเรา คนรวยก็อาจจะจนได้ถ้าชอบซื้อแบรนด์สินค้าราคาสูงที่เสื่อมมูลค่า ส่วนคนไม่รวยก็อาจจะรวยได้ ถ้าชอบซื้อสินค้าที่จะทวีมูลค่าและจะไม่ใช้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายสูงมาก ยึดหลัก “พอเพียง” แล้ว ในที่สุดก็จะ “เพียงพอ” ครับ

ลองมาดูผลประกอบการของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ขอยกตัวอย่างเป็น KTC เหมือนเดิม เพราะเป็นบริษัทเดียวที่ไม่ใช่ธนาคาร และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำธุรกิจครบทั้ง 2 ประเภทนี้ ในช่วงปี 2555-2559 พบว่า ปี 2555 มีกำไรสุทธิ 255 ล้านบาท ต่อมาปี 2556 อยู่ที่ 1,037 ล้านบาท, 1,755 ล้านบาท, 2,072.61 ล้านบาท และ 2,494.71 ล้านบาท ในปี 2559 เมื่อรวม 4 ปีที่ผ่านมา มีกำไรโตขึ้น 878.43% ถือว่ามีผลประกอบการ “ดีขึ้นมาก” เลยทีเดียว ผลงานปีล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 732.55 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15.36% จากไตรมาส 1 ปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 635.01 ล้านบาท ถือว่ามีผลประกอบการ Outperform ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่ามีต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายลดลง ในขณะที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยรับในระดับเดิม

ประเทศไทยเรานี่ก็แปลก เวลาต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นมา พวกพ่อค้าก็จะมาเรียกร้องขอขึ้นราคาสินค้า แต่พอต้นทุนสินค้าลดลง พวกพ่อค้าทั้งหลายกลับสงบปากสงบคำ ไม่เคยคิดที่จะลดราคาสินค้าตามต้นทุนสินค้าที่ลดลง และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องของรัฐก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่เคยคิดที่จะห่วงใยประชาชน ผู้ซึ่งจะต้องตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้าอยู่เรื่อย ๆ มา

ลองมาดูวิธีการคิดดอกเบี้ยของธุรกิจที่ออกบัตรเครดิตที่คิดกับลูกค้า ว่าเอาเปรียบผู้ใช้บัตรมากแค่ไหน

1.จำนวนวันที่ผู้ออกบัตรคำนวณเพื่อจะคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตร โดยคำนวณตั้งแต่วันที่มีการบันทึกรายการจนถึงวันที่กำหนดชำระเงิน ยกตัวอย่าง เช่น ผู้ใช้บัตรได้นำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 แต่มีการบันทึกรายการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 แล้วมีการครบกำหนดต้องชำระเงินวันที่ 13 มกราคม 2560 ถ้าผู้ใช้บัตรไม่ชำระเต็มจำนวน จำนวนวันที่ผู้ออกบัตรนำมาคำนวณในการคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตร เป็นดังนี้ 7+31+12 = 50 วัน ซึ่งถ้าคิดกันแบบสมเหตุสมผล จำนวนวันที่จะคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตรควรจะเป็น 0 วัน ถ้าคำนวณวันถึงวันที่ 12 มกราคม 2560 จะไปคิดดอกเบี้ยเอาตั้งแต่วันที่บันทึกรายการนั้นไม่ถูกต้อง เพราะวันที่รูดบัตรหรือวันที่บันทึกรายการนั้นจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2560 ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ปลอดดอกเบี้ย เพราะยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่จะต้องชำระเงิน แล้วอีกอย่าง ตัวผู้ออกบัตรเองก็ได้รับค่าธรรมเนียมจากร้านค้า ในอัตราที่ประมาณ 2% บวกลบอยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนร้านค้าเหล่านี้ก็แอบมาบวกในราคาค่าสินค้าและบริการ ที่ผู้ใช้บัตรนำบัตรเครดิตมารูดซื้อ ดังนั้นจำนวนวันที่ผู้ออกบัตรควรจะเริ่มคำนวณเพื่อคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตร ควรจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ครบกำหนดชำระ จนถึงวันที่ผู้ใช้บัตรชำระเงินดังกล่าว

2.ยอดเงินต้นที่ผู้ออกบัตรนำมาคำนวณเพื่อคิดดอกเบี้ยกับผู้ใช้บัตร โดยปกติผู้ออกบัตรจะคำนวณเงินต้นจากยอดเงินทั้งหมด ที่ผู้ใช้บัตรใช้ไปในระหว่างงวดนั้น ๆ โดยไม่นำเงินที่ผู้ใช้บัตรได้ชำระบางส่วนมาหักออกก่อน เช่น ผู้ใช้บัตรรูดซื้อสินค้าไปภายในงวดนั้นเป็นเงิน 50,000 บาท มีชำระขั้นต่ำไป 5,000 บาท แทนที่ผู้ออกบัตรจะคิดดอกเบี้ยจาก 50,000-5,000 = 45,000 บาท กลับคิดดอกเบี้ยจากเงินต้น 50,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้บัตรอย่างมาก

เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่เราเริ่มมีบัตรเครดิตใช้ ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า ธปท. ไม่ว่าสมัยไหนก็ตาม ล้วนแต่ปล่อยให้ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เอาเปรียบประชาชนอย่างมากไว้ได้อย่างไร ซึ่งถ้ายังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาก็แสดงว่า ธปท.แคร์ธุรกิจเหล่านั้น แต่ไม่ใส่ใจและไม่เห็นใจประชาชนตาดำ ๆ ที่จำเป็นต้องใช้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล อย่าถึงกับให้ประชาชนต้องมาจุดธูปบนบานให้อาจารย์ป๋วยมาช่วยเลยนะครับ

 

คลิกอ่าน >> บัตรเครดิตกับดอกเบี้ยมหาดโหด (1)

คลิกอ่าน >> บัตรเครดิตกับดอกเบี้ยมหาดโหด (2)