ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ตลาดกังวลผลกระทบโควิดทั่วโลก

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ตลาดกังวลผลกระทบโควิดทั่วโลก ขณะที่เงินบาทยังคงอ่อนค่า ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/7) ที่ระดับ 32.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/7) ที่ระดับ 32.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทอยู่ในแนวอ่อนค่าเทียบสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 15 เดือน เป็นผลมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้้นภายในประเทศ

ล่าสุดวันนี้ (19/7) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาแถลงชี้แจงมาตรการควบคุมซึ่งระบุเป็น “มาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด” ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยขอให้ประชาชนงดออกจากเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็นในเวลากลางวัน ยกเว้นเพื่อจัดหาอาหาร ยา พบแพทย์ รับวัคซีน และอาชีพจำเป็น มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (20/7) ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวในตอนกลางคืนยังคงงดออกจากเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น.เช่นเดิม

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลักและสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) มาจากปัจจัยหลักอันได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐ ที่แข็งแกร่งเกินคาดในเดือนมิถุนายน โดยยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 0.4% หลังจากยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.7% ในเดือนพฤษภาคม

นอกจากนี้นักลงทุนทั่วโลกมีความกังวลต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามากขึ้น หลังเชื้อได้ลุกลามไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำให้นักลงทุนเทขายสกุลเงินเสี่ยงและเข้าถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.84-32.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.85/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (19/7) ที่ระดับ 1.1805/06 ดอลลาสหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/7) ที่ระดับ 1.1818/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังตลาดมีความกังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบันและตลาดได้เข้าสู่ภาวะที่ปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-Off) เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปได้รับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะช่วงนี้ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season)

ทั้งนี้ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพฤหัสบดีนี้ (22/7) โดยคาดการณ์ว่า ECB จะยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1764-1.1813 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1777/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/7) ที่ระดับ 109.86/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/7) ที่ระดับ 110.07/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังถูกกดดันจากแรงเทขายของนักลงทุนท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ที่ปรับตัวลงนั้นจะส่งผลให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และญี่ปุ่นปรับตัวแคบลง

อย่างไรก็ดี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยมุมมองช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปัจจุบัน โดยธุรกิจต่าง ๆ ยังคงได้รับผลกระทบแต่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบบระหว่าง 109.68-110.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน (20/7), ดัชนีราคาผู้ผลิตของเยอรมนี เดือนมิถุนายน (20/7), รายงานจำนวนบ้านใหม่ที่กำลังก่อสร้างของสหรัฐเดือนมิถุนายน (20/7), ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของญี่ปุ่น เดือนมิถุนายน (21/7), ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของไทย เดือนมิถุนายน (21/7), มติการประชุมธนาคารกลางยุโรป (21/7),

รายงานจำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/7), รายงานยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ เดือนมิถุนายน (22/7), ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร เดือนมิถุนายน (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของเยอรมนี เดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหราชอาณาจักร เดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหรัฐเดือนกรกฎาคม (23/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.20/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.50/3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ