ทำไมนักลงทุนจึงสนใจลงทุน ในตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนกันมากขึ้น

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ
คอลัมน์ สถานีลงทุน
ศิรินารถ อมรธรรม
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ทั้ง 3 ประเภทนี้ของไทยที่ขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA ณ 19 ก.ค. 2564 สูงถึง 1.84 แสนล้านบาทคิดเป็น 1.3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย

ประกอบด้วย green bond 56,600 ล้านบาท social bond 9,800 ล้านบาท และ sustainability bond 118,000 ล้านบาท (รวมพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของกระทรวงการคลังมูลค่า 100,000 ล้านบาท)

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน หรือ ESG bond ประกอบด้วย green bond, social bond และ sustainability bond

โดย green bond หรือตราสารหนี้สีเขียวจะระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานทางเลือก การบำบัดน้ำเสีย การคมนาคมสะอาด

ส่วนตราสารหนี้ประเภท climate bond ซึ่งเน้นการระดมทุนเพื่อลดโลกร้อน หรือ blue bondที่ระดมทุนเพื่อดูแลฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของ green bond social bond หรือตราสารหนี้เพื่อสังคม จะระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น การให้บริการสาธารณสุข ส่งเสริมการศึกษา จัดหาอาชีพ การสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย

และ sustainability bond หรือตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน ระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบทั้ง green และ social

แม้ว่ากระแสการออกและลงทุนใน ESG bond จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนบางส่วนยังคงไม่แน่ใจว่าผลตอบแทนของการลงทุน ESG bond จะแตกต่างจากหุ้นกู้ปกติไหม หรืออะไรที่ดึงดูดให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนใน ESG bond เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

การศึกษาเรื่องความแตกต่างของผลตอบแทนของ green bond กับตราสารหนี้ทั่วไปเริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการศึกษาชิ้นแรก ๆ ของธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB เมื่อปี 2018 พบว่าอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของ green bond ไม่ได้แตกต่างไปจากตราสารหนี้ทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ นักลงทุนใน green bond ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกันกับตราสารหนี้ปกติ

ต่อมาในปี 2019 รายงานของ Climate Bonds Initiative พบว่า green bond 6 รุ่นจากกลุ่มตัวอย่าง 32 รุ่น มี green premium เกิดขึ้น ซึ่งหมายความว่ามี green bond บางรุ่นที่มีราคาสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป หรือให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไปนั่นเอง (เนื่องจากมูลค่าหน้าตั๋วเท่ากัน)

ถัดมาในปี 2020 ทำการศึกษาอีกครั้ง ผลการศึกษาออกมาในแนวทางเดิมที่พบว่า 9 ใน 23 รุ่นของกลุ่มตัวอย่าง ESG bond ของ 19 ประเทศมีราคาสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป หรือมี ESG bond บางรุ่นให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าตราสารหนี้ทั่วไป

มาถึงปีนี้ ผลการศึกษาล่าสุดของ IHS Markit ซึ่งเป็น pricing agency ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป พบว่า ESG bond ของผู้ออกจำนวน 26 ราย จากทั้งหมด 44 ราย มี green premium เกิดขึ้น

ซึ่งหมายความว่า ESG bond โดยเฉลี่ยจะมีราคาสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป หรือให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่าตราสารหนี้ปกติราว 0.0184% ซึ่งส่วนใหญ่จะพบใน green bond ประเภทที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดว่าจะบรรลุได้ค่อนข้างยากนักลงทุนจึงให้คุณค่าสูงกว่า ESG bond ประเภทอื่น

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า green premium จะสูงขึ้นหาก ESG bond นั้นมี external reviewer ที่เป็นที่ยอมรับและมีความน่าเชื่อถือ นั่นเป็นการสะท้อนว่าถ้านักลงทุนมีความเชื่อมั่นในความเป็น ESG ที่ว่า ผู้ออกจะนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ ก็จะยินดีซื้อ ESG bond ในราคาที่สูงขึ้น หรือยินดีที่จะรับผลตอบแทนต่ำลงจากการลงทุนใน ESG bond ที่มีคุณภาพ

จากผลการศึกษา ในแง่ของผู้ออก ย่อมหมายถึงสามารถจ่ายคูปองที่ต่ำลงได้จากการออก ESG bond ที่มีคุณภาพ เช่น การจัดให้มี external reviewer ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการใช้เงินของผู้ออกว่าจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ดังนั้น ผู้ออกรายใดที่มีโครงการดี ๆ เพื่อความยั่งยืนของสังคมแล้วละก็ นักลงทุนก็ยินดีจะสนับสนุนเช่นกันโดยรับผลตอบแทนที่ต่ำลง ผู้ออกก็สบายใจมากขึ้นจากการมีแรงกดดันทางการเงินที่ต่ำลง


ตลาดทุนกับความยั่งยืนของสังคม มันเป็นแบบนี้นี่เอง