ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ตลาดกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก

ดอลลาร์สหรัฐ
(File Photo by JOEL SAGET / AFP)

ดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า ตลาดกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังนักลงทุนยังจับตาการนำเข้า และฉีดวัคซีนให้ประชาชน ก่อนที่เงินบาทจะปิดตลาดที่ระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 32.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/7) ที่ระดับ 32.84/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคืนที่ผ่านมานักลงทุนได้เข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า

โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งขึ้นในสหรัฐ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยสหรัฐมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 30,000 รายต่อวันในช่วง 7 วันที่ผ่านมา สูงกว่าค่าเฉลี่ย 11,000 รายต่อวันในเดือนมิถุนายน

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมา สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 1 จุด สู่ระดับ 80 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 82

โดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติระบุว่า การร่วงลงของดัชนีความเชื่อมั่นมีสาเหตุจากสต๊อกบ้านที่มีจำกัด การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาบ้าน และต้นทุนในการก่อสร้าง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังนักลงทุนยังจับตาการนำเข้า และฉีดวัคซีนให้ประชาชน รวมถึงตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยในวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 11,305 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศระลอกใหม่อยู่ที่ 397,612 ราย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.76/32.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (20/7) ที่ระดับ 1.1796/98 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/7) ที่ระดับ 1.1792/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ในวันนี้มีการเปิดเผยว่า ดัชนีผู้ผลิตของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนมิถุนายนมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1.1%

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าในทวีปยุโรป ที่คาดว่าจะสร้างผลกระทบต่อการเปิดประเทศของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ค่าเงินยูโรเท่านั้นที่ถูกกดดัน ค่าเงินปอนด์ก็ถูกแรงเทขายเช่นกัน หลังรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีโอกาสทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้น โดยหากยกเลิกมาตรการการล็อกดาวน์ แล้วกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งหนึ่งก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ทั้งนี้ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีนี้ (22/7) โดยคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1799-1.1800 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1797/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 109.39/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (19/7) ที่ระดับ 109.72/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการที่นักลงทุนเข้าถือครองสกุลเงินที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า

นอกจากนี้ สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า คณะกรรมการจากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้อนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของโมเดอร์นาในกลุ่มประชาชนอายุ 12-17 ปี ทำให้เป็นวัคซีนตัวที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติให้ฉีดในกลุ่มอายุดังกล่าวต่อจากวัคซีนของไฟเซอร์

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีการเปิดเผยในเช้าวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานแห่งชาติอยู่ที่ระดับ 0.2% ในเดือนมิถุนายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.1% ในเดือนพฤษภาคม โดยถึงแม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานยังคงห่างจากเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น

แต่การที่ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงปรับเพิ่มแม้จะเล็กน้อย ก็ช่วยให้กรรมการธนาคารกลางญี่ปุนคลายความกังวลได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.38-109.73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.41/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ รายงานจำนวนบ้านใหม่ที่กำลังก่อสร้างของสหรัฐเดือนมิถุนายน (20/7), ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของญี่ปุ่นเดือนมิถุนายน (21/7), ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของไทยเดือนมิถุนายน (21/7), มติการประชุมธนาคารกลางยุโรป (21/7), รายงานจำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/7),

รายงานยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐเดือนมิถุนายน (22/7), ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรเดือนมิถุนายน (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของเยอรมนีเดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหรัฐเดือนกรกฎาคม (23/7)


จำนวนอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.20/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.50/3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ