ธปท.จ่อประกาศเปิดเผยค่าฟีแบงก์ไตรมาส 3

แบงก์ชาติ-BOT-เงินบาท

ธปท.ชี้ไตรมาส 3 เตรียมประกาศแนวปฏิบัติการเปิดเผยข้อมูลค่าธรรมเนียมสถาบันการเงิน ระบุมีมากกว่า 300 รายการให้ประชาชนเปรียบเทียบใช้บริการ ยันไม่กำหนดเป็นอัตราคงที่แบงก์ เหตุต้นทุนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน แต่เลือกสุ่มตรวจ 20 รายการร้องเรียนสูงสุด

วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 3 ธปท.จะมีการประกาศแนวปฏิบัติเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็น Principle Base ประมาณ 7-8 ข้อ ซึ่งจะเป็นกฎพื้นฐาน (Rule Base ) คล้ายลักษณะการให้บริการอย่างเป็นธรรม (Maket Conduct) แต่จะไม่ได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมว่าจะอยู่ที่เท่าไร เนื่องจากต้นทุนของแต่ละสถาบันการเงินไม่เท่ากัน สะท้อนผ่านอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันระหว่างสถาบันการเงินขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่เท่ากัน

ธัญญนิตย์ นิยมการ

ดังนั้น การประกาศดังกล่าว จะเป็นในลักษณะการเปิดเผยข้อมูลค่าธรรมเนียมของธุรกรรมแต่ละประเภท ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 300 รายการ โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้ให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลไปแล้วบางส่วน เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้จะทยอยเปิดเผยข้อมูลโปรดักต์อื่น ๆ มากขึ้น โดยจะทยอยเป็นเฟส ๆ ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องมีการส่งข้อมูลให้ ธปท. และเปิดเผยบนเว็บไซต์ของธนาคาร และ ธปท.จะดึงบางส่วนขึ้นระบบเว็บไซต์ ธปท. เพื่อให้ประชาชนได้มีการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนจะไปใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ธปท.อาจจะไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจในเรื่องการให้บริการอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ทั้ง 300 รายการ แต่ ธปท.จะมีการสุ่ม 20 รายการที่มีการเรียกร้องค่อนข้างเยอะ โดยจะให้สถาบันการเงินต้องแสดงไส้ในรายละเอียดของการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าว เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่ง ธปท.จะมีการติดตามมอนิเตอร์ หากพบว่าบางรายการทำธุรกรรมเหมือนกัน ธปท.ก็อาจจะสามารถมีการกำหนดเป็นอัตราคงที่ได้ หรือ Fixed Rate ได้

“ธปท.จะมีหลักการแนวปฏิบัติที่จะออกมาในไตรมาส 3 เพื่อประกาศชัดเจนในเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งทำแบบนี้ส่วนหนึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถมองกันเองว่าใครต้นทุนและค่าธรรมเนียมเท่าไร ซึ่งอาจจะหันมาดูของตัวเอง โดย ธปท.คงจะไม่กำหนดว่าค่าธรรมเนียมจะต้องเท่าไร แต่จะเลือกกลุ่ม เจาะเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อสุ่มดู โดยเฉพาะที่มีข้อร้องเรียนเยอะ ๆ ใน 20 รายการ จากที่มีกว่า 300 รายการ

เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งมีการพูดคุยระหว่างคณะกรรมการทวงถามหนี้ที่จะมีการกำหนดออกมา เนื่องจากขั้นตอนกระบวนการติดตามคล้ายกันหรือเหมือนกัน เช่น งวดแรกส่ง SMS งวดที่ 2 ส่ง SMS และโทรศัพท์ และงวดที่ 3 ส่งเจ้าหน้าที่ลงภาคสนาม แต่จะเห็นว่าอัตราการเรียกเก็บไม่เท่ากันระหว่าง สถาบันการเงินภายใต้กำกับที่มีการเรียกเก็บ 100 บาท แต่ผู้ประกอบการนอกการกำกับสามารถเรียกเก็บได้เลย ซึ่งบางรายเรียกเก็บเป็นหมื่น จึงจะมีการกำหนดเป็นราคาคงที่ได้”