ตลาดเงินเคลื่อนไหวทรงตัว ยังรอปัจจัยใหม่

Baht-ดอลลาร์-1

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (19/7) ที่ระดับ 32.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่ในการหนุนความต้องการการซื้อขาย อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินสกุลหลักเนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลต้าทั่วโลก

สำหรับข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ได้เปิดเผยเมื่อคืนวานนี้ (20/7) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนมิถุนายน สู่ระดับ 1.643 ล้านยูนิต สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.590 ล้านยูนิต โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาด แม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างยังคงปรับตัวขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.81-32.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.83/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 1.1776/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/7) ที่ระดับ 1.1793/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันค่าเงินยูโรปรับตัวในกรอบแคบ ตลาดรอปัจจัยใหม่ โดยเฉพาะการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันพรุ่งนี้ (22/7) คาดการณ์ว่า ECB จะยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในภูมิภาค ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1750-1.1783 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1776/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาค ค่าเงินปอนด์เปิดตลาดเช้านี้ (21/7) ที่ระดับ 1.3628/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/7) ที่ระดับ 1.3741/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาพุ่งขึ้นสูงในสหราชอาณาจักร หลังจากทางรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการควบคุมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (19/7)

ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาการดำเนินการของรัฐบาล สหราชอาณาจักร ว่านี่อาจเป็นการปูทางให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ หรืออาจกลายเป็นการเตือนให้เห็นว่าประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19  ในอัตราที่สูงแล้วก็ยังคงเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดอยู่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินปอนด์เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.3589-1.3641 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์ และปิดตลาดที่ระดับ 1,3622/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/7) ที่ระดับ 109.96/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (20/7) ที่ระดับ 109.38/40 เยน/ดอลลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนร่วงเทียบค่าเงินดอลลาร์เป็นผลจากปัจจัยที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นโดยเปรียบเทียบ โดยมาอยู่ที่ระดับ 1.23% ถึงแม้ว่าในวันนี้ (21/7) รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยยอดส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พุ่งขึ้น 21.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวแข็งแกร่งที่สุดในรอบ 11 ปี

สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่วนยอดนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัว 12.2% เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขดังกล่าวทำให้ญี่ป่นมียอดเกินดุลการค้า 9.8499 แสนล้านเยนในช่วง 6 เดือนแรกของปี ซึ่งเป็นการเกินดุลรอบครึ่งปี 2 ครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.78-110.17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ มติการประชุมธนาคารกลางยุโรป (22/7), รายงานจำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายสัปดาห์ของสหรัฐ (22/7), รายงานยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ เดือนมิถุนายน (22/7), ยอดค้าปลีกของสหรัฐอาณาจักร เดือนมิถุนายน (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของเยอรมนี เดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหราชอาณาจักร เดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบรการของสหรัฐ เดือนกรกฎาคม (23/7)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.3/0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ 2.5/3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ