ตลาดเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังผลประกอบการฟื้น จับตาการประชุม ECB วันนี้

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/7) ที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/7) ที่ระดับ 32.83/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไปถือครองสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ยูโรและปอนด์ หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งเมื่อคืนนี้ ขานรับผลประกอบการที่ดินเกินคาดของบริษัทจดทะเบียน

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดอลลาร์จะยังคงแข็งค่าในไตรมาส 3 โดยดัชนีดอลลาร์มีโอกาสที่จะดีดตัวแตะ 96.0-97.0 ในขณะที่ด้านนักลงทุนจับตาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) แถลงว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้พุ่งขึ้นในสหรัฐ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้า โดยขณะนี้สหรัฐมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด สูงกว่าระดับ 50% ที่พบในช่วง 27 มิถุนายน-3 กรกฎาคม

ด้านผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 6% ในปีนี้ เช่นเดียวกับตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเมษายน นอกจากนี้ ยังเตือนว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ หากอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ และหากอัตราการฉีดวัคซีนยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป โดยจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในสิ้นปี 2565 ได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.81-32.87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (22/7) ที่ระดับ 1.1787/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/7) ที่ระดับ 1.1776/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากตลาดมีสัญญาณเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น หลังจากบริษัทจดทะเบียนเปิดเผยแนวโน้มผลประกอบการที่สดใส ซึ่งช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเดินทางและสันทนาการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 4.2% หลังจากที่ร่วงลงก่อนหน้านี้จากความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจาการที่บรรดานักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยจะมีการประชุมในวันนี้ (22/7) ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1780-1.1802 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1795/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/7) ที่ระดับ 110.17/18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/7) ที่ระดับ 110.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเมื่อวานนี้ (21/7) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำการปิดเผยยอดส่งออกและนำเข้า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 พุ่งขึ้น จนทำให้ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้า 9.8499 แสนล้านเยน ซึ่งเป็นการเกิดดุลรอบครึ่งปี 2 ครั้ง ติดต่อกันก็ตาม

ในขณะที่ด้านกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงว่า นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะพบกับนางจิล ไบเดน สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐในวันนี้ (22/7) รวมทั้งผู้นำอีกหลายชาติและหลายองค์กร ซึ่งจะเดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดโตเกียวโอลิมปิกในวันศุกร์นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.09-110.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.24/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ มติการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (22/7), รายงานจำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก รายสัปดาห์ ของสหรัฐ (22/7), รายงานยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ เดือนมิถุนายน (22/7), ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร เดือนมิถุนายน (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของเยอรมนี เดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหรัฐเดือนกรกฎาคม (23/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนนประเทศอยู่ที่ 0.3/0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.5/3.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ