สแตนชาร์ตคงเป้าจีดีพี 1.8% ชี้ส่งออก-ท่องเที่ยวตัวพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คงประมาณการจีดีพีไทยปีนี้ 1.8% และปี 65 อยู่ที่ 3.1% ชี้ ให้น้ำหนักการคุมโควิด-การเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ เชื่อการส่งออกเติบโตแข็งแกร่ง-ท่องเที่ยวมีสัญญาณเป็นบวก หนุนเศรษฐกิจไทยไปต่อ ด้านนโยบายการคลัง ไม่ห่วงกู้ก่อหนี้เพิ่ม แต่ใช้ให้มีประสิทธิผล เน้นการกระตุ้น-ฟื้นฟูหลังโควิดจบ

วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังคงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้อยู่ที่ 1.8% และในปี 2565 อยู่ที่ 3.1% โดยยังคงให้น้ำหนักในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกระจายการฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้ว่าในระยะสั้นเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงภายใต้สถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและความชัดเจนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และจะสะท้อนให้เห็นทิศทางต่อไปในระยะข้างหน้าในปี 2565

โดยในภาคนโยบายการคลัง มองว่า หากมีการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ชัดเจนขึ้น การขยับเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะสามารถทำได้จากปัจจุบันที่อยู่ 55% และจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากการกู้เพิ่มอยู่ภายใต้การควบคุมโควิด-19 และการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากวงเงินการกู้เพิ่มจะสามารถนำไปในการกระตุ้นการบริโภค ช่วยให้ประชาชนออกมาใช้จ่าย และการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจทำได้มากกว่าการเยียวยา ซึ่งปัจจุบันดำเนินการอยู่ เนื่องจากนโยบายการคลังจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในปีหน้าภายใต้นโยบายการเงินที่มีข้อจำกัดจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น

ขณะที่สัญญาณภาคการส่งออกจะเห็นทิศทางการฟื้นตัวที่ค่อนข้างแข็งแรง โดยในเดือนมิถุนายนการส่งออกขยายตัวถึง 44% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มจากเดือนพฤษภาคมที่เติบโต 38% หรือนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขยายตัวไปแล้ว 10% และกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยบวกและจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของไทย และทั่วโลก ซึ่งหากต่างประเทศมีการฉีดวัคซีนและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกเติบโตต่อเนื่องได้

เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นราย แต่จะเห็นว่าการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภูเก็ตแซนด์บอกซ์มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ปัจจุบันเปิดมา 1 เดือนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 1 หมื่นราย ซึ่งมีประมาณ 20 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดีและจะช่วยสนับสนุนเรื่องการเปิดประเทศได้ แม้จะยาก แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี

“สถานการณ์โควิด-19 และการกระจายวัคซีนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและความชัดเจนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และจะสะท้อนให้เห็นทิศทางต่อไปในปีหน้า”

สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน มองว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบาง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมองว่ามีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงมากขึ้น ธนาคารประเมินว่า ธปท. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไว้ในระดับต่ำไปอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าธนาคารกลางบางแห่งจะเริ่มส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายเขิงปริมาณ (QE) แล้วก็ตาม ซึ่งไทยอาจจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยโลกขาขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้พบนักลงทุนสถาบันต่างชาติ รวมทั้งได้จัดงานสัมมนาออนไลน์อัพเดตทิศทางเศรษฐกิจให้กับลูกค้า พบว่านักลงทุนและลูกค้ายังมีความกังวลกับความไม่แน่นอนในภาพรวมเศรษฐกิจไทย แต่ก็ยังมีนักลงทุนประมาณ 10% ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องใช้เวลา

นอกจากนี้ นักลงทุนถามถึงทิศทางของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของไทย และถามว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน มองค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์อย่างไร เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี ซึ่งแตกต่างจากในข่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องไปถึงระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าเรื่องค่าเงินบาทยังคงอยู่ในความสนใจของนักลงทุนต่างชาติ และไทยยังคงเป็นประเทศที่มีโอกาสในการขยายธุรกิจมายังภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย


“จากโรดโชว์งานสัมมนาออนไลน์อัพเดตทิศทางเศรษฐกิจของธนาคาร พบว่าผู้เข้าร่วมงานสัมมนาส่วนใหญ่ จากทั้งหมด 150 ท่านทั่วโลก มองว่ายังมีความไม่แน่นอนรออยู่ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่เราเชื่อว่าสัดส่วน 10% ที่มองว่าไทยทยอยฟื้นตัว สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าได้”