กำไรแบงก์ Q2 กระเตื้อง พิษ “ล็อกดาวน์” ส่อตั้งสำรองเพิ่ม

แบงก์พาณิชย์

บรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทยปิดรอบแจ้งงบฯงวดไตรมาส 2 และงวดครึ่งแรกปี 2564 กันไปแล้วโดยภาพรวมออกมาดูดีเลยทีเดียวแม้จะคาบเกี่ยวกับช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ก็ตาม

ภาพรวมกำไรแบงก์ฟื้น

โดย “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมพบว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ แบงก์ 10 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมกัน 51,342 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ถึง 20,953 ล้านบาท หรือ 68% YOY ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ที่มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 46,709 ล้านบาท ก็เพิ่มขึ้นถึง 9.9% QOQ

“กสิกร-SCB” กำไร Q2 ชะลอ

ส่วนผลประกอบการรายแบงก์ พบว่า ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 308.9% YOY แต่เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้ากำไรลดลง 16.31% ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กำไร 8,815 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าลดลง 12.6% QOQ

ส่วนธนาคารกรุงเทพ (BBL) กำไรที่ 6,357 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 105% YOY และค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ด้านธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไร 6,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% YOY และเทียบไตรมาสก่อนหน้ากำไรเพิ่ม 7.8% QOQ

โดย 4 แบงก์ขนาดใหญ่ (BBL, KBANK, SCB และ KTB) มีกำไรสุทธิงวดไตรมาส 2 รวมกันอยู่ที่ 30,077 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 3,139 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกรวมกันที่ 63,293 ล้านบาท

“กรุงศรี” กำไรพิเศษ

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ทำกำไรในไตรมาส 2 ปีนี้ได้สูงถึง 14,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 121.8 YOY และเพิ่มขึ้น 122% QOQ ซึ่งมีปัจจัยพิเศษจากการรับรู้กำไรจากการนำหุ้นบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนแบงก์อื่น ๆ ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ที่กำไรโต 100% YOY และโต 80% QOQ

ส่วนธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กับธนาคารทิสโก้ (TISCO) กำไรดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบไตรมาสก่อนหน้ากำไรลดลง ด้านธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กับธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) กำไรลดลงทั้งเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนและเทียบไตรมาสก่อนหน้า

2 แบงก์ใหญ่ลุยตั้งสำรองเพิ่ม

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2 ดังกล่าว หลายแบงก์เริ่มกลับมาตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าโดยธนาคารกรุงเทพตั้งสำรองเพิ่มมากสุด 55% QOQ อยู่ที่ 9,810 ล้านบาท รองลงมากสิกรไทยตั้งสำรองเพิ่ม 25% QOQ โดยตั้งที่ 10,807 ล้านบาท ส่วนไทยพาณิชย์และกรุงไทยตั้งสำรองทรงตัว ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก

โดย “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK กล่าวว่า ในไตรมาส 2 ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่ม 2,157 ล้านบาท หรือ 24.93% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรสุทธิไตรมาส 2 ลดลงจากไตรมาสก่อน 1,733 ล้านบาท หรือ 16.31% ขณะที่งวดครึ่งปีแรกตั้งสำรอง 19,457 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรอง ภายใต้หลักความระมัดระวัง

ฟากธนาคารกรุงเทพระบุว่า ธนาคารมีการตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวัง โดยคาดการณ์ปัจจัยผลกระทบสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

หนี้เสียทรงตัวจากไตรมาสแรก

ส่วนสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พบว่า ภาพรวมยังคงค่อนข้างทรงตัว โดย NPL รวมอยู่ที่ 550,661 ล้านบาท หรือ 3.34% ขยับขึ้นมาเล็กน้อยจากไตรมาสแรกอยู่ที่ 541,254 ล้านบาท หรือ 3.31%

โดย “นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า เอ็นพีแอลในปัจจุบันก็ยังไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ให้ ซึ่งมาตรการจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2564 นี้ ดังนั้นต้องติดตามว่าจะมีการต่ออายุมาตรการนี้อีกหรือไม่

สำรองลดลงหนุนกำไรดูดี

ขณะที่ภาพกำไรแบงก์ที่ดูเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองที่ลดลง ซึ่งไตรมาส 2 ปีที่แล้วเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์ครั้งแรก และแบงก์มีมาตรการพักชำระหนี้แบบอัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าที่เข้าพักหนี้ตอนนั้นมีทั้งคนที่ลำบากจริง กับคนที่ไม่ได้ลำบากนัก

“ปีที่แล้ว ต้องยอมรับเลยว่า ส่วนหนึ่งมีลูกค้าประเภท moral hazard เข้ามา และหลังจากนั้นระบบแบงก์ก็ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งพอตั้งสำรองไปมากในปีที่แล้ว ปีนี้แบงก์ก็เริ่มตั้งสำรองลดลงในไตรมาสแรก จึงทำให้กำไรเทียบปีที่แล้วเพิ่มขึ้น เพราะถ้าดูพวกค่าธรรมเนียมก็ดีขึ้น หลังจากปีที่แล้วค่าฟีจากตลาดกองทุนตกลงอย่างมาก นอกจากนี้ ปีนี้พวกปริวรรตเงินตรา เทรดไฟแนนซ์ แล้วก็ธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราก็โตต่อเนื่อง เพราะปีนี้ส่งออกโตดี” นายนริศกล่าว

ล็อกดาวน์เสี่ยงฉุดกำไร

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้าธุรกิจแบงก์ถือว่ามีความเสี่ยง จากรายได้จากดอกเบี้ยที่ยังไม่สะท้อนภาพผลกระทบที่แท้จริง เป็นเพียงกำไรทางบัญชี เพราะจากผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรง จนภาครัฐมีการล็อกดาวน์ ซึ่งหากระบบแบงก์มีการพักชำระหนี้ให้ แต่ลูกค้าไปต่อไม่ไหว สุดท้ายแบงก์ก็อาจจะไม่มีรายได้ดอกเบี้ยเกิดขึ้นจริง

“การตั้งสำรองน่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 เพราะผลกระทบโควิดระลอก 3 ที่มีการล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบธุรกิจเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก ดังนั้นแบงก์ที่มีพอร์ตเอสเอ็มอีมาก ๆ น่าจะต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ขณะที่กำไรส่วนหนึ่งที่รับรู้ไปแล้ว ส่วนหนึ่งอาจจะต้องตั้งสำรองกลับมาคืนด้วย” นายนริศกล่าว


มองไปข้างหน้า ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะยังไม่รู้ว่ามาตรการ “ล็อกดาวน์” จะลากยาวไปถึงเมื่อไหร่ ขณะเดียวกันยังต้องภาวนาให้การฉีดวัคซีนทำได้รวดเร็วและครอบคลุมประชากรมากขึ้น