ชง ครม.เร่งกู้เพิ่ม 2 แสนล้าน เยียวยาล็อกดาวน์เร่งด่วน

กระทรวงคลังชง ครม. 27 ก.ค. เร่งแผนกู้ 2 แสนล้านบาท ภายในเดือนกันยายน สิ้นปีงบประมาณ 2564 รองรับมาตรการเร่งด่วนเยียวยาผลกระทบ “ล็อกดาวน์” สภาพัฒน์เผยเน้นใช้เงินโครงการเร่งด่วนรองรับปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดช่วงนี้ ลุ้น พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านจะเพียงพอหรือไม่

คลังชง ครม.กู้เพิ่ม 2 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 2 โดยจะมีการขยายกรอบก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมอีก 100,000-200,000 ล้านบาท เป็นการทำแผนกู้เงินเพิ่มมารองรับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ 13 จังหวัดในช่วงนี้

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ก.ค.นี้ เห็นชอบทันที เพื่อให้ทันต่อการออกมาตรการมาดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

“แผนกู้เพิ่ม 100,000-200,000 ล้านบาท ดังกล่าว อยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564)

ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้บรรจุวงเงินไว้ในแผนบริหารหนี้ ปี 2564 ซึ่งจะต้องดำเนินการกู้ภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งตอนนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ใช้วงเงินหมดแล้ว และผลกระทบจากโควิดที่แรงขึ้น มีการล็อกดาวน์ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อ จึงต้องปรับแผนกู้เพิ่มในปีงบประมาณนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ไม่เกินกรอบ 60% ของจีดีพี

แหล่งข่าวกล่าวว่า การปรับแผนกู้เพิ่มในปีงบประมาณ 2564 ดังกล่าว ยังไม่ได้ทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เกินจากกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 60% โดยแม้จะกู้จนเต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะก็ยังไม่เกินกรอบ นอกจากว่าปีนี้อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) เกิดหดตัวแรง หนี้สาธารณะก็อาจจะเกินกรอบดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มมีการหารือกันว่า หากโควิดยังระบาดรุนแรงจนคุมไม่อยู่ หรือเกิดการระบาดระลอกใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก เงินกู้ที่ออก พ.ร.ก.กู้เพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท อาจจะไม่เพียงพอรับมือ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะต้องออกกฎหมายพิเศษกู้เพิ่มเติมอีกหรือไม่

“ถ้าดูตอนนี้ยังมีวงเงินอยู่เพราะ พ.ร.ก.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ยังไม่ได้กู้เลย แต่ถ้ามีการระบาดรุนแรง หรือเกิดระลอกใหม่อีก เงินก้อนนี้ก็อาจจะไม่พอ แต่จะต้องออก พ.ร.ก.กู้เพิ่มอีกหรือไม่ คงต้องว่าไปตามสถานการณ์

ส่วนที่ยังไม่ใส่วงเงินทั้ง 500,000 ล้านบาท ลงไปในการปรับแผนบริหารหนี้รอบนี้ก็เพราะยังไม่จำเป็น เราต้องกู้ตามความต้องการใช้เงิน เพราะถ้ากู้มากองไว้จะเป็นต้นทุน ดังนั้นก็ต้องรอให้มีการเสนอโครงการใช้เงินเข้ามาก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

สภาพัฒน์เน้นปัญหาเร่งด่วน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า ถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ก็มีโครงการเตรียมไว้ที่จะใช้เงินจากก้อนดังกล่าว เช่น มาตรการช่วยเหลือการจ้างงานของเอสเอ็มอี แต่จะยังไม่ออกมาช่วงนี้ เนื่องจากจะต้องทำเรื่องเร่งด่วนก่อน

“ตอนนี้จะพิจารณาวงเงินที่จะต้องบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดช่วงนี้ก่อน เนื่องจากเรื่องสำคัญที่สุดขณะนี้คือ การบริหารสถานการณ์เร่งด่วนในปัจจุบัน โดยต้องดูว่าหากมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าดูแลก็จะใช้มาตรการลงไปดูแลก่อน” นายดนุชากล่าว

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่จะออกมาเร็ว ๆ นี้จะเป็นมาตรการลดค่าเทอมนักเรียน นักศึกษา ทั้งสถานศึกษาแห่งรัฐและเอกชน โดยจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยในวันที่ 27 ก.ค.นี้ จะเสนอ ครม.เห็นชอบในหลักการ

ส่วนมาตรการเยียวยาลูกจ้างและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ 13 จังหวัด ที่จะใช้งบประมาณในกรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาทจะยังคงเป็นเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินเหลือ และต้องใช้ให้หมดภายในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

“ที่ผ่านมามีวงเงินคืนมาจากโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 18,000 ล้านบาท กับของเดิมที่วงเงินเหลืออยู่ 7,000 ล้านบาท รวมเป็น 25,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ส่วนนี้ในการดำเนินงานไปก่อน แต่หากไม่เพียงพอก็คงต้องใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาทด้วย” นายดนุชากล่าว

ลุ้น พ.ร.ก. 5 แสนล้านพอหรือไม่

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ขณะนี้คงยังไม่สามารถระบุได้ว่า เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จะเพียงพอหรือไม่ โดยจะต้องบริหารจัดการเงินก้อนนี้ก่อน และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าควบคุมได้หรือไม่

ยอมรับว่าสถานการณ์โควิดยังไม่แน่นอน และยังมีความเสี่ยง แต่ช่วงที่ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ก็ไม่มีใครคิดว่าสถานการณ์การระบาดจะรุนแรงขนาดนี้

ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้ใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงยังมีเม็ดเงินเพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า มาตรการด้านเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมา หลังการระบาดระลอก 3 มีมูลค่าเพียง 2.6 แสนล้านบาท ซึ่ง EIC ประเมินว่ายังไม่เพียงพอใน 3 มิติ ได้แก่ 1.ไม่พอด้านระยะเวลา 2.ไม่พอด้านพื้นที่ และ 3.ไม่พอด้านเม็ดเงิน เนื่องจาก EIC ประเมินความเสียหายไว้กว่า 7.7 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ EIC คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบันอีกราว 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวอย่างหนัก จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติม

โดยเป็นการใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ซึ่งปัจจุบันเม็ดเงินจาก พ.ร.ก.ดังกล่าวได้ถูกใช้ไปแล้ว 42,000 ล้านบาท ในนโยบายลดค่าน้ำค่าไฟรอบล่าสุด และมาตรการชดเชยรายได้ผู้ประกอบการและลูกจ้าง และ EIC คาดว่าภาครัฐจะมีการใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ราว 200,000 ล้านบาทในปีนี้