กรุงไทย ชี้ประชุมเฟด-โควิดระบาด หนุนเงินบาทอ่อนค่ารอบใหม่ 33.20 บาท

กรุงไทยคาดเงินบาทอ่อน
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าต่อเนื่องในกรอบ 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์ จับตาการระบาดโควิดในและต่างประเทศ-การประชุมเฟด ด้าน “กรุงไทย” มองโอกาสบาทกลับไปอ่อนค่าสุดเทียบปีก่อนที่ระดับ 33.20 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 26-30 กรกฎาคม 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามยังคงเป็นสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศเป็นหลัก

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ จะเป็นผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 27-28 ก.ค. 64 ซึ่งอาจจะมีมุมมอง 2 ด้าน คือ 1.กรณีเฟดมองการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเป็นความเสี่ยง ซึ่งส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อ ประกอบกับงบการเงินของบริษัทในสหรัฐฯ ที่ทยอยประกาศออกมากว่า 15% ดีกว่าคาด ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าได้

และ 2.กรณีเฟดมองโควิด-19 เป็นปัญหาชั่วคราว และดำเนินนโยบายการเงินต่อ โดยการลดการเข้าซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือหากโควิด-19 ในสหรัฐฯ ระบาดหนักและรุนแรง อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าได้

“ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเทียบเท่าในปี 63 ที่บาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 33.15-33.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยดอลลาร์กลับไปแข็งค่าจากเฟดส่งสัญญาณลด QE และมีความเสี่ยงที่จะเห็น อย่างไรก็ดี เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าเร็วจนเกินไป”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนขายหุ้นสุทธิ 6,200 ล้านบาท และซื้อบอนด์สุทธิ 8,700 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวขึ้น ทำให้มีกระแสเข้ามาลงทุนในบอนด์

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่กรอบ 32.75-33.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่อง เนื่องจากความกัลวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศอาจทำให้ตลาดระวังมากขึ้นในการเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

โดยปัจจัยชี้นำหลักของตลาดโลก ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) วันที่ 27-28 ก.ค. และข้อมูลจีดีพี ไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าเฟดคงนโยบาย เพื่อรอดูสัญญาณเรื่องวิธีและจังหวะเวลาถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป

“หาดดู flow สิ้นเดือนภาพรวม บาทอ่อนยังส่งผลดีต่อส่งออก แต่อาจมีสะดุดบ้างชั่วคราวจากการปิดโรงงานบางแห่ง”