กรมบัญชีกลางจี้ทุกกระทรวง เร่งเบิกจ่ายงบฯปี’64

กรมบัญชีกลาง

กรมบัญชีกลางกระตุ้นเร่งเบิกจ่ายงบฯ 3.28 ล้านล้านบาท หวั่นโควิดรุนแรงกระทบเม็ดเงินเข้าระบบ ยังมั่นใจเบิกจ่ายภาพรวมได้ตามประมาณการ หลังช่วง 3 ไตรมาสแรกยังเบิกจ่ายได้ดี จี้ทุกกระทรวงเร่งดำเนินการ ลั่นหน่วยงานไหนเบิกไม่ทัน ก.ย.นี้ เจอพับงบฯ พร้อมเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคจัดซื้อจัดจ้าง 1 แสนล้านบาท

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ช่วงไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2564 (เม.ย.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐถือว่าเร่งได้ตามเป้าหมาย

โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายแล้วกว่า 80% ส่วนรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้เกือบ 50% ส่วนแนวโน้มการเบิกจ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ (ก.ค.-ก.ย.) ยังต้องติดตาม เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยังส่งผลกระทบ

อย่างไรก็ดี กรมได้เร่งรัดทุกหน่วยงานไปแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ามีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เช่น การจัดอบรมสัมมนา ที่ต้องยกเลิก หันไปจัดรูปแบบออนไลน์ ก็กระทบการเบิกจ่าย เป็นต้น

“เรายังคิดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปีนี้จะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.28 ล้านล้านบาท เพราะทุกหน่วยงานต้องเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมายอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมา 3 ไตรมาสก็เบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้า เราก็พยายามเร่งรัดให้มากที่สุด อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์โควิด-19 ยังรุนแรงอยู่แบบนี้ ก็เป็นเหตุสุดวิสัย” นายประภาศกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 เป็นไปตามประมาณการมากที่สุด ก่อนหน้านี้ กรมได้ทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)

เพื่อให้เร่งรัดหน่วยงาน หรือกระทรวงเจ้าสังกัด โดยกำหนดว่า หากไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ภายในงบฯปี 2564 เงินที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีก็จะถูกพับไป

นอกจากนี้ที่ผ่านมา กรมได้รายงานมติ ศบศ.ดังกล่าว ให้ที่ประชุมคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาได้รับทราบด้วย ซึ่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีจะได้ลงไปติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายในแต่ละกระทรวงต่อไป

นายประภาศกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ติดขัดในขั้นตอนของการอุทธรณ์ กรมได้เข้าไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้แล้ว โดยเนื่องจากกรอบขั้นตอนการอุทธรณ์จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งกรมไม่สามารถขยายระยะเวลาเกินกว่ากำหนดได้ เพราะจะถือว่าผิดกฎหมาย

“ภายในปีงบประมาณ 2564 กรมจะสามารถบริหารจัดการการจัดซื้อจัดจ้างที่ติดอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ได้ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่อยู่ในกระบวนการอุทธรณ์นั้น

กรมได้วินิจฉัยการอุทธรณ์เป็นไปตามกำหนดของกฎหมาย เพียงแต่ว่าหลังจากมีการวินิจฉัยแล้ว จะมีปัญหาที่ผู้ประกอบการไปฟ้องศาลอีกหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนการอุทธรณ์ยืดเยื้อออกไปอีก


โดยหากมีการฟ้องศาล กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ส่วนนี้กรมไม่สามารถควบคุมหรือกำกับได้” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว