“อัตรามรณะ” กับ “อัตตา” เพราะชีวิตคนไม่ใช่เพียงตัวเลข

โทร โควิด

“อัตรามรณะ” กับ “อัตตา” เพราะชีวิตคนไม่ใช่เพียงตัวเลข

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (อาจารย์ทอมมี่) กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS) และอดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย 3 สมัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Tommy Pichet ขอเขียนบทความนี้แสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ผมตั้งชื่อว่า “อัตรามรณะ” กับ “อัตตา”

ทราบไหมครับว่าตามสถิติของโลกในปัจจุบันนี้ จะมีคนตายเกือบ 2 คนในทุกๆ วินาที (อ่านจบประโยคนี้ก็มีคนตายเพิ่มอีกละ) ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเรามีชีวิตยืนยาวได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป ก็จะมีคนเกือบ 4 พันล้านคนที่ล้มหายตายจากไปในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ (ตามที่ได้คำนวณไว้ในอัตรามรณะตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย) และก็เป็นความจริงที่หลีกหนีไม่พ้นว่า เราก็อาจจะต้องเป็นหนึ่งในสี่พันล้านคนเข้าในซักวินาที ซึ่งถ้าลองกลับมาคิดดีๆ แล้วก็จะตระหนักว่า “ชีวิตคนเรานั้นช่างสั้นยิ่งนัก”

พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน

ยิ่งช่วงนี้ได้ยินแต่ข่าวคนตายบ่อยจากโควิดขึ้นก็ยิ่งน่าเศร้า ถึงแม้ว่าอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในบริษัทประกันชีวิตจะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยได้ยินคำว่า “ตาย” จนชินหูในที่ทำงานทุกวัน

ถึงแม้ว่าถ้ามองอย่างผิวเผินแล้ว “การตาย” ในการคำนวณแบบประกันชีวิตนั้นจะเป็นเพียงค่าสถิติหรือตัวเลขที่เก็บข้อมูลมาให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเอาไว้ใช้ในการใส่สูตรเข้าไปในแบบจำลองเท่านั้น แต่ผมเชื่อว่าหลายคนที่ได้อยู่หรือได้เห็นเหตุการณ์จริงที่เกี่ยวกับ “การตาย” นั้น คงจะมีความรู้สึกเศร้า เสียใจ หดหู่ หรืออารมณ์อื่นๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นแน่

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ “จำนวนคนตายไม่ใช่เป็นแค่สถิติ แต่คือชีวิตที่เป็นที่รักและความสูญเสียของครอบครัวของใครซักคน” ดังนั้น ผมเชื่อว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยทุกคนก็ตระหนักถึงข้อนี้ด้วย

โดยเฉพาะใครที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานในสายอาชีพนี้ อาจจะไม่ค่อยชอบเวลาที่ได้ยินกับคำว่า “ตาย” เท่าไรนัก ยิ่งคำพูดที่ใช้สื่อสารกันในเวลาทำงานเพื่อที่จะออกแบบประกันหรือผลประโยชน์ความคุ้มครองชีวิตเป็นในทำนองการจำลองสถานการณ์สมมติว่า ถ้าตายไปด้วยเหตุนั้นจะจ่ายอย่างนี้หรือด้วยเหตุนี้จะจ่ายอย่างนั้นแล้ว มันก็ฟังดูน่าพิลึกเพราะเหมือนการไปแช่งเพื่อนร่วมงานกันเองให้ตายอยู่ทุกวัน

บางคนก็คงถือเหมือนกันกับเรื่องนี้ แต่เอาเป็นว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้เหมาะกับความต้องการของสังคมก็เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับคนในสังคมได้อีกทางหนึ่ง และประเทศไทยก็ยังขาดสวัสดิการในสังคมทางด้านนี้อยู่อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตบำนาญ หรือระบบประกันสุขภาพที่เพียงพอในยามเกษียณ เป็นต้น

แอคชัวรีหรือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ทำงานในบริษัทประกันชีวิต จึงจำเป็นจะต้องคลุกคลีและมีข้อมูลของความเป็นไปได้ที่จะมีอัตราการตาย หรือที่เรียกกันว่า “อัตรามรณะ” ของคนแต่ละอายุ แต่ละเพศ ของแต่ละประเทศเอาไว้ใช้ เพื่อเป็นสถิติในการวิเคราะห์และคำนวณความเป็นไปได้ต่างๆ ในการประเมินความเสี่ยงทางด้านการเงินในอนาคต

ซึ่งตามความน่าจะเป็นทางสถิติก็จะทำให้รู้ว่าตัวเราเองจะน่าจะลาจากโลกนี้ไปเมื่อไร รู้ว่ามีโอกาสที่จะตายในปีนี้เท่าไร และโอกาสที่จะตายในปีหน้าเป็นเท่าไร รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่จะทำให้มีความน่าจะเป็นที่จะอายุสั้นลงเท่าไร หรือแม้กระทั่งรู้ว่าถ้าอายุประมาณนี้จะมีความน่าจะเป็นที่จะได้อยู่ชมโลกถึงอายุเท่าไร ถ้าแอคชัวรีมีระบบฐานข้อมูลที่ดีพร้อมแล้วก็จะสามารถคำนวณความน่าจะเป็นที่อยากจะรู้ได้ทุกอย่างโดยเอาสถิติประยุกต์มาใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์

คำว่า “อัตรามรณะ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งของแอคชัวรี เปรียบเสมือนกับวัตถุดิบหรืออะไหล่ในการสร้างเครื่องยนต์ ถ้าไม่มีอัตรามรณะ แอคชัวรีก็ไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์แบบประกันชีวิตให้กับสังคมได้ แต่แม้ว่าจะคลุกคลีกับอัตรามรณะหรือพูดคำว่า “ตาย” อยู่จนชินหูแค่ไหนก็ตาม ต้องระลึกอยู่เสมอว่าจำนวนคนตายไม่ใช่เป็นแค่สถิติ แต่มันคือชีวิตและความสูญเสียของคน ในส่วนลึกๆ จึงไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว และสิ่งที่ทำได้คือทำหน้าที่ในอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยของตัวเองให้ดีที่สุด เช่น ออกแบบประกันที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคและมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สรุปว่า อัตรามรณะ คือ ตัวเลขทางสถิติที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่คนแต่ละอายุ แต่ละเพศจะตายลงเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น อัตรามรณะของชายไทยอายุ 65 ปี ที่ไม่สูบบุหรี่ และมีสุขภาพปกติ เท่ากับ 5% ก็หมายความว่า ในจำนวนบุคคลในกลุ่มนี้ 100 คน จะมี 5 คน ที่จะมีโอกาสเสียชีวิตภายในช่วงอายุ 65 ปี จนกระทั่งย่างเข้าอายุ 66 ปี เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อใดที่หยุดจากงานและมีเวลาว่างเป็นของตัวเองเมื่อไร ก็เลยอยากชวนหาโอกาสมานั่งทำความเข้าใจกับสัจธรรมของชีวิตเพื่อเตือนสติและเข้าถึงตัวเองให้มากขึ้น (วกมาเข้าเรื่อง “อัตตา” นะครับ)

“นั่งริมธารครุ่นวิจารการเกิดดับ เปลี่ยนปุบปับสายธารทะยานไหล
เกิดไอเย็นฟ่องฟุ้งจรุงใจ ดับร้อนได้โดยไม่ต้องลองอาบกิน
อิกทางหนึ่งตลึงแลแน่ใจนัก    ถ้าใครผลักตกลงคงแดดิ้น
กระทบก้อนหินผาใต้วาริน    แล้วจะสิ้น ชีพไปในวังวน”
… ท่านพุทธทาส

เคยหรือไม่ครับที่ในบางครั้งมีสิ่งบางสิ่งทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นการดับหรือลืมตัวของตัวเราอยู่ได้เป็นเวลาระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการได้เห็นได้ฟังได้อ่าน หรือได้รับอารมณ์ซึ่งเป็นความเงียบสงัดไม่ชวนให้เกิดความคิดนึกอะไรก็ตาม นานตลอดเวลาที่ความรู้สึกเช่นนั้นมีอยู่

โดยพอจะสรุปได้ว่าเกิดความสบายทางจิตนั่นเอง (ไม่ใช่จิตหลอน แต่เรียกว่า จิตว่าง) ลักษณะเช่นนี้ทางพระเค้าบอกว่าเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นไปได้มากเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ หรือแม้กระทั่งกับเพื่อนที่เหมาะสม

การไม่ยึดถือตัวตนของตัวเองนี่เองที่เค้าเรียกว่า”การดับไปแห่งอัตตา”ครับ ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงความดับไปของร่างกายหรือของชีวิต แล้วก็ไม่ได้หมายถึงความรู้สึกการตายด้าน แต่หมายถึง การดับของความรู้สึกที่รู้ว่ามี “ตัวเรา-ของเรา” ซึ่งคงสรุปได้ว่าเป็น “ความดับไปแห่งอัตตา” ซึ่งเป็นภาวะแห่งจิตที่ปราศจากความรู้สึกว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” นั่นเอง และเมื่อความรู้สึกว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” ดับไป เชื่อไหมครับว่าจะมีสิ่งอื่นขึ้นมาทดแทนเหมือนสมการเคมี นั่นก็คือภาวะของจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นภาวะแห่งความว่าง เกิดภาวะแห่งความสมบูรณ์ของสติปัญญา และจะทำให้เรามีแต่ความสงบสุขทางใจ

ยกตัวอย่างเช่น ถึงใครจะมองว่าค่าตัวต่อชั่วโมงของเรานั้นสูงแค่ไหน แต่การลด “ตัวเรา-ของเรา” ลงไปได้นั้น จะทำให้อีโก้ของเราลดลง และชีวิตก็มีความสุขด้วย เพราะเราก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง เป็นหัวหน้าของลูกน้องคนหนึ่ง เป็นพ่อของลูกคนหนึ่ง เป็นลูกของพ่อกับแม่คนหนึง

ผมเชื่อว่าถ้าความเห็นแก่ตัวของคนลดลงมากไปได้ ก็จะมีสติปัญญาหรือเหตุผลมากขึ้น จริยธรรมต่างๆ ก็จะตามมา เช่น ความซื่อสัตย์ ความเห็นแก่ผู้อื่น ความรักใคร่เมตตากรุณา การสารภาพความผิด ฯลฯ ก็จะตามมาอัตโนมัติ ในทางกลับกันถ้าคนเรามี ”อัตตา” มากถึงขีดสุด ต่อให้มีกฎหมายที่เข้มงวดเท่าไรก็ยั้งไม่อยู่เพราะถึงเวลานั้นก็จะถึงภาวะหน้ามืดไม่กลัวตายหรือบทลงโทษใดๆ ทั้งนั้น

กฎหมายเป็นบทบังคับขั้นต่ำ ส่วนบรรษัทภิบาลก็เปรียบเหมือนจริยธรรมในโลกธุรกิจ ดังนั้นถ้าผู้บริหารดับ”อัตตา”ได้ บรรษัทภิบาลก็จะตามมาเองเช่นกัน ขอเสริมอีกนิดว่าบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) นั้นเป็นการสร้างกลไกควบคุมการดำเนินงานขององค์กรให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร ลูกค้า ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความเสี่ยงในธุรกิจเช่นเดียวกัน

สรุปทั้งหมดทั้งปวงแล้ว ผมคิดว่าความทุกข์เริ่มต้นมาจากการมีของ ”อัตตา”