KKP หวั่นโควิดลามโรงงานต้องปิดตัว 20% กดจีดีพีหดตัว -0.8%

โรงงาน
แฟ้มภาพ

บล.เกียรตินาคินภัทร ชี้ วัคซีนช้า-ไม่มีประสิทธิผล หวั่นล็อกดาวน์ยืดเยื้อนาน 3 เดือน การระบาดลามสู่โรงงานปิดตัว 20% กระทบเศรษฐกิจทรุดติดลบ 0.8% ยอดติดเชื้อพีก 4 หมื่นราย กระเทือนกระแสเงินสดครัวเรือน-ธุรกิจเป็นลบ 

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในบทวิเคราะห์ “โค้งต่อไปของเศรษฐกิจและโควิด-19” ว่า แนวโน้มการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายได้ค่อoข้างเร็ว เมื่อเทียบกับประสิทธิผลของวัคซีนและอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างช้า โดยปัจจุบันมีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสมีสัดส่วนประมาณ 5% หรือประมาณ 3.5 ล้านคน และคาดว่าภายในไตรมาสที่ 4 สัดส่วนการฉีดจะเพิ่มเป็น 20% ซึ่งในระหว่างทางสถานการณ์ค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อยังต่ำกว่าเป็นจริงเกือบ 1 เท่าตัว ซึ่งคาดว่ามาตรการล็อกดาวน์อาจจะยังมีต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน


โดยบล.เกียรตินาคินภัทร ได้ตั้งสมมติฐานออกเป็น 2 โมเดล คือ 1.กรณีฐาน (Based Case) มีการปิดเมืองล็อกดาวน์และสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อจะพีกภายใน 1 เดือนอยู่ที่ 2 หมื่นราย ซึ่งมีการปรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงจาก 1.5% เหลือ 0.5% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวและสามารถรองรับไม่ไห้จีดีพีหดตัวติดลบ 

2.กรณีเลวร้าย (Worst Case) มีการล็อกดาวน์ แต่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อพีกที่ระดับ 4 หมื่นราย โดยการระบาดกระจายไปยังโรงงาน ทำให้ต้องปิดโรงงานกว่า 20% ของศักยภาพการรองรับ (Capacity) ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จนกระทบภาคการผลิตที่เป็นหัวใจของการส่งออก จะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยอาจเห็นจีดีพีหดตัวติดลบ 0.8% ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง   

“ประเด็นสำคัญหากมีการล็อกดาวน์รุนแรงและยาวนานกว่า 2 ครั้งแรก ซึ่งครั้งแรกใช้มาตรการเข้มข้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพียง 188 ราย ใช้เวลา 6 สัปดาห์ และครั้งที่ 2 ระบาดสมุทรสาคร ซึ่งใช้มาตรการเชิงพื้นที่ใช้เวลา 4 สัปดาห์ และรอบ 3 ตั้งแต่สงกรานต์ถือเป็นเวลาเกือบ 4 เดือนและมาตรการทยอยเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่เทียบกับต่างประเทศยังไม่เข้มข้นที่สุด อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ยาวนานจะส่งผลกระทบรุนแรงทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก กระแสเงินสดของครัวเรือน ธุรกิจจากเป็นบวกเริ่มเป็นลบ และความไม่ชัดเจนจะทำให้กระทบห่วงโซ่อาหาร เพราะธุรกิจเห็นแผนไม่ชัดว่าจะเปิดหรือปิด ทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงัก และส่งผลต่อไปยังต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost ความสามารถในการชำระหนี้ ที่อาจกระทบสถาบันการเงินได้” 

ดังนั้น รัฐบาลควรต้อง (1) มีการวางแผนการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข  และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส (2) การเพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน (3) ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ และ (4) เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด และ (5) รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน 

สำหรับระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทย แม้ว่าปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ 60% และคาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 2565 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากมีความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่น และต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์ โดยยังมีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ใช้สามารถนำมาดูแลผ่าน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านสาธารณสุข การเยียวยา การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งแผนการใช้เงินอาจจะมากกว่าวงเงิน 5 แสนล้านบาท ก็สามารถกู้เพิ่มเติมได้ โดยจะต้องดูเรื่องวินัยการคลัง มีแผนการจ่ายหนี้คืนชัดเจนผ่านการลดค่าใช้จ่ายหรือการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในภายหลัง