ธปท.ชี้การบริโภคเดือน ก.ค.วูบ พิษล็อกดาวน์ฉุดใช้จ่าย-ส่งออกตัวช่วย

ธปท

แบงก์ชาติชี้การบริโภคเดือน ก.ค.ส่อวูบหนัก จากผลกระทบล็อกดาวน์ฉุดการใช้จ่าย ชี้ครึ่งปีแรกภาคส่งออกเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจ

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.และไตรมาส 2 ยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ โดยการบริโภคลดลงจากการถูกจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยา แต่จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้การใช้จ่ายถูกจำกัด ซึ่งจะเห็นการบริโภคในเดือน ก.ค.ย่อตัวลงได้อีก

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง แม้ตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย. 2564 หลายส่วนจะปรับดีขึ้น จากผลของการคลายล็อกดาวน์ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงมีความอ่อนแอและเปราะบาง และต่อเนื่องไปในเดือน ก.ค. “การบริโภคภาคเอกชนในเดือน มิ.ย.อ่อนแอ แม้ตัวเลขจะปรับดีขึ้นจากผลของการคลายล็อกดาวน์ โดยขยายตัวได้ 1.2% จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ -3.0% ขณะที่ในไตรมาส 2 หดตัว -1.8% จากไตรมาส 1 ซึ่งหมวดที่ขยายตัวได้ดีจะเป็นสินค้าคงทนจากยอดขายรถยนต์และจักรยานยนต์ ขณะที่ตลาดแรงงาน มีความเปราะบางมากขึ้น โดยผู้ขอรับสิทธิว่างงานยังสูงและมีแนวโน้มผงกหัวขึ้น” นางสาวชญาวดีกล่าว

ขณะที่การส่งออกในเดือน มิ.ย. ขยายตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าและเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจ โดยขยายตัว 1.4% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค.ที่อยู่ที่ 0.4% และไตรมาส 2 ขยายตัวที่ระดับ 5.3% โดยหมวดที่ขยายตัวได้ดีจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวโดยขยายตัวอยู่ที่ 0.2% จากเดือนก่อนอยู่ที่ -0.3% ขณะที่ไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.7% ซึ่งหมวดที่เติบโตจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามทิศทางการส่งออก ส่วนหมวดก่อสร้างยังคงอ่อนแอตามอุปสงค์ในประเทศที่ลดลง และมาตรการคุมการระบาดในแคมป์คนงาน อย่างไรก็ดี จากการสอบถามพบว่าโรงงานที่ได้รับผลกระทบได้มีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายไปใช้โรงงานแห่งอื่น และทำ bubble and sealed เพื่อลดผลกระทบการระบาด ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

“แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยา แต่จากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้การใช้จ่ายถูกจำกัด ซึ่งจะเห็นการบริโภคในเดือน ก.ค.ย่อตัวลงได้อีก อย่างไรก็ดี ธปท.และภาครัฐต่างพยายามช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม” นางสาวชญาวดีกล่าว

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า ส่วนค่าเงินบาทในเดือน มิ.ย. ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อย เป็นผลมาจากเงินสกุลดอลลาร์แข็งค่า และปัจจัยการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1-23 ก.ค. 2564 จะเห็นว่าค่าเงินบาทปรับอ่อนค่ามาก มาจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า และมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทเมื่อเทียบคู่ค้าคู่แข่งปรับอ่อนค่ามาก อย่างไรก็ดี ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และมีเครื่องมือดูแล หากมีความผันผวนเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ