แบงก์มองเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง 32.20 บาท เกาะติด กนง.-ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ

เงินบาท-ตลาดหุ้น-02

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 32.70-33.20 บาท/ดอลลาร์ จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ-ประชุม กนง.-การระบาดโควิดในประเทศและต่างประเทศ

วันที่ 1 สิงหาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 26-30 กรกฎาคม 2564) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.70-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามนอกจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 4 ส.ค. 64 โดยติดตามดูว่ากนง.จะมีการปรับประมาณตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือไม่ อย่างไรก็ดี อาจจะไม่ได้มีผลต่อค่าเงินบาทอย่างมีนัยสำคัญมากนัก

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ จะเป็นตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยการเป็นตัวเลข PMI ภาคการผลิตภาคบริการ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งหากตัวเลขออกมาดีกว่าประมาณการจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าได้ แต่หากตัวเลขออกมาแย่กว่าคาดจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า สะท้อนภาพว่าเศรฐกิจในประเทศอื่นฟื้นตัว แต่สหรัฐออกมาไม่ดี โดยยังคงเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องได้จากเหตุการณ์ในประเทศ

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเห็นนักลงทุนเทขายตลาดหุ้นสุทธิ 2,800 ล้านบาท และซื้อพันธบัตรสุทธิ 3,700 ล้านบาท โดยในสัปดาห์หน้ายังคงเห็นเงินไหลเข้าพันธบัตรต่อ เนื่องจากผลตอบแทน (บอนด์ยีลด์) พันธบัตรไทยยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบพันธบัตรสหรัฐ

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราไม่เห็นเงินบาททะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ออกมาผิดคาดจากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ระดับ 8% แต่ตัวเลขจริงออกมาเพียงกว่า 6% ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า ประกอบกับโฟลว์ยังคงไหลเข้าในบ้านเรา แต่สัปดาห์หน้าคงต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ของสหรัฐต่อ”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่กรอบ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อเนื่อง ซึ่งตลาดยังคงจับตาข้อมูล ISM ภาคบริการ และภาคการผลิต รวมถึงการจ้างงานสหรัฐ เดือน ก.ค. ที่มีการคาดการณ์จะเพิ่มกว่า 9 แสนตำแหน่ง ซึ่งถ้าดีกว่าคาด ดอลลาร์จะแข็งค่า และจากการคาดการณ์นโยบายเฟดในระยะถัดไป

นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เช่นกัน ส่วนในประเทศติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 4 ส.ค. ทั้งนี้ ธนาคารมองว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ย 0.5% และแสดงความกังวลมากขึ้นต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด ด้านการกระจายวัคซีนต้องติดตามต่อไป