เงินบาทอ่อนค่า จับตาดูผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินวันพรุ่งนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 3 สิงหาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/8) ที่ระดับ 32.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวทรงตัว จากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/8) ที่ระดับ 32.94/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเมื่อคืนนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับสกุลหลัก หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.162% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.838% เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อพันธบัตรในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ สถาบันจัดการด้านอุปโภคของสหรัฐ เปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 59.5 ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 60.9 หลังจากแตะระดับ 60.6 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อใหม่ นอกจากนี้ ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 63.4 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 62.1 ในเดือนมิถุนายน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดหนักในพื้นที่ทางภาคใต้ของสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น และเริ่มจะไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงแล้ว

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นักลงทุนจับตาดูยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยในวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-9 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 18,901 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศระลอกใหม่อยู่ที่ 652,185 ราย โดยเมื่อวานนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 41.4 ลดลงจาก 46.5 ในเดือนมิถุนายน ตามการปรับลดลงในทุกองค์ประกอบและเกือบทุกธุรกิจ

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงจับตาดูผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันพรุ่งนี้ (4/8) ซึ่งนักลงทุนคาดการณ์ว่า กนง.จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า อยู่ในกรอบระหว่าง 32.95-33.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.01/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (3/8) ที่ระดับ 1.1874/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/8) ที่ระดับ 1.1889/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจมีการเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของเยอรมนี อยู่ที่ระดับ 65.9 ในเดือนกรกฎาคม มากกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 65.6 และมากกว่าเดือนมิถุนายนที่ระดับ 65.1 ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 62.8 ในเดือนกรกฎาคม มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์อยู่ที่ระดับ 62.6 แต่ยังคงน้อยกว่าเดือนมิถุนายนที่ระดับ 63.4% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1868-1.1885 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1880/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/8) ที่ระดับ 109.32/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (2/8) ที่ระดับ 109.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อเช้าดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเขตโตเกียว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนกรกฎาคม มากกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ และมากกว่าในเดือนมิถุนายนที่ 0.0% อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าระบบการแพทย์ของประเทศอาจตกอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.10-109.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.14/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของญี่ปุ่น (4/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของยูโรโซน (4/8), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนกรกฎาคม (4/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (4/8), ดัชนีภาคบริการเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (4/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (5/8), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนของเยอรมนี (6/8), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (6/8)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.40/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.30/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ