EXIM BANK ตั้งเป้าหนุนเอสเอ็มอีส่งออกได้ 1 แสนราย

EXIM BANK เผยส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักพยุงเศรษฐกิจไทย คาดครึ่งปีหลังโต 10% ชี้เอสเอ็มอีไทยส่งออกต่างประเทศได้เพียง 1% จากจำนวน 3.1 ล้านราย ตั้งเป้าดูแลธุรกิจรายเล็กส่งออกได้ 1 แสนราย ผ่านการพัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โรงงานในบางพื้นที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนต้องหยุดการผลิต ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีความเปราะบาง จนหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียงราว 1%

ขณะที่การท่องเที่ยวยังรอวันฟื้น “การส่งออก” จะกลายเป็นพระเอกประคับประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564 ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวถึง 15.5% และคาดว่าในปี 2564 ภาคส่งออกจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 10%

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์ส่งออกของไทยจะดีขึ้น แต่เอสเอ็มอีในประเทศไทยที่มีอยู่รวมกว่า 3.1 ล้านราย สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้เพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีทักษะความรู้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเอสเอ็มอีในประเทศไทยควรได้รับประโยชน์จากากรส่งออกถึง 40-50% ฉะนั้น EXIM BANK จึงมีเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนเอสเอ็มอีให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้เฉลี่ยปีละ 600-1,000 ราย และตลอดวาระการทำงานจะทำให้มีเอสเอ็มอีส่งออกไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นรวมกว่า 100,000 ราย

“EXIM BANK ได้ขานรับนโยบายกระทรวงการคลัง ที่ให้เข้าไปเร่งขับเคลื่อนการฟื้นตัวของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็วตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ โดยพัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-19 ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564”

ทั้งนี้ ได้แก่ 1.พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ตอบรับกระแส New Normal EXIM BANK จะเป็น Lead Bank สนับสนุนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ พลังงานทดแทน พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH)

2.พัฒนาเอสเอ็มอีให้เป็นผู้ส่งออกรายใหม่เพิ่มมากขึ้น จากจำนวนผู้ส่งออกเอสเอ็มอีของไทยในปัจจุบันมีไม่ถึง 1% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศซึ่งมีจำนวน 3.1 ล้านราย EXIM BANK พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำและอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในทุกระดับ ผ่านกิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) รวมทั้งให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ธุรกิจส่งออกได้ทันที อาทิ สินเชื่อเครือข่ายครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม

3.พัฒนา Pavilion สำหรับการค้าออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “EXIM Thailand Pavilion” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรายเล็กซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงช่องทางดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการค้าขาย การโพสต์สินค้า ตลอดจนขีดจำกัดด้านเงินทุน มีโอกาสค้าขายกับคู่ค้าในต่างประเทศทางออนไลน์ได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินจาก EXIM BANK และหน่วยงานพันธมิตรควบคู่ไปด้วย

4.พัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจรเพื่อเสริมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทย รวมทั้งมาตรการ “พักหนี้” และ “เติมทุน” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนจากผลกระทบของโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย

“EXIM BANK จะเร่งพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้ภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยเติบโตได้แม้ในภาวะวิกฤตและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่ง EXIM BANK พร้อมเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและให้เครื่องมือทางการเงินสำหรับบริหารจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการนำเข้าเครื่องจักร และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า แม้ว่าผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลงในระยะสั้น แต่ภูมิคุ้มกันของผู้ส่งออกคือ ความแตกต่างอย่างโดดเด่นของสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ภายใต้วิถีใหม่ในระยะข้างหน้าได้”