ธปท.ชี้โควิดยืดเยื้อฉุดการบริโภค-เลื่อนเปิดประเทศ หั่นจีดีพีโตแค่ 0.7%

นักท่องเที่ยว

ธปท.ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือ 0.7% จาก 1.8% และปี 65 เหลือ 3.7% จาก 3.9% เหตุการระบาดโควิด-19 รุนแรงยืดเยื้อกระทบการบริโภคเอกชนทรุด-การเปิดรับนักท่องเที่ยวเลื่อน คาดนักท่องเที่ยวปีนี้เหลือ 1.5 แสนราย ปีหน้า 6 ล้านคน เกาะติดตลาดแรงงานเปราะบาง เผยผู้เสมือนว่างงาน-แรงงานกลับถิ่น-ว่างงานระยะยาวตัวเลขผงกหัวขึ้นในรอบปี

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า จากการสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายวงกว้างได้ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบางและมีความสูง ส่งผลให้ ธปท.ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือ 0.7% จาก 1.8% ซึ่งลดลง -1.1% จากประมาณการในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1.8% และปี 2565 จาก 3.9% เหลืออยู่ที่ 3.7% ลดลง -0.2%

ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

ทั้งนี้ ธปท.ได้ตั้งสมมุติฐานออกเป็น 2 กรณี คือ 1.กรณี baseline กรณีสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 และผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาด หรือล็อกดาวน์ได้ภายในไตรมาสที่ 4/2564 และสามารถลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 0 วันได้ภายในไตรมาสที่ 2/2565 โดยประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้อยู่ที่ 1.5 แสนราย และในปีหน้าทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน

และ 2.กรณี minus หากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มีความยืดเยื้อ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดภายในไตรมาสที่ 4/2564 ทำให้การลดวันกักตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 0 วันเลื่อนออกไปเป็นไตรมาสที่ 3/2565 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง โดยในปีนี้เหลือ 1 แสนคน และในปีหน้าจะอยู่ที่ 2 ล้านคน

ขณะที่ตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 2/2564 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอก 3 และคาดว่าจะปรับแย่ลงจากการะบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าเดิม และการฟื้นตัวจะเป็นลักษณะ W Shaped อาจใช้เวลายาวนานขึ้น โดยเห็นสัญญาณของผู้เสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นในรอบปีอยู่ที่ 2.8 ล้านคน และแรงงานที่มีการกลับภูมิลำเนามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.6 ล้านคน รวมถึงผู้ว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 0.2 ล้านคน

“การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้ในปีนี้จาก 1.8% เหลือ 0.7% มาจากปัจจัยการระบาดของโควิดที่มีผลต่อการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ แม้ว่าจะมีมาตรการภาครัฐและการส่งออกที่ช่วยได้ ส่วนปี 65 ปรับลดอย่างนัยสำคัญจากการเปิดประเทศที่ช้าลง ทำให้การฟื้นตัวช้าโดยปรับจาก 3.9% มาอยู่ที่ 3.7%

ดังนั้น การระบาดรอบนี้ได้กระทบเศรษฐกิจปีนี้และต่อเนื่องไปปีหน้า ซึ่งมีความเสี่ยงด้านต่ำที่มีความไม่แน่นอน โดยโจทย์สำคัญคือการคุมโรคระบาดให้ได้ และมาตรการการเงินและการคลังประคองไม่ให้ทรุดและผ่านวิกฤตนี้ไปได้”