กกร. ชงข้อเสนอเร่งด่วน เพิ่มดีกรีอุ้มธุรกิจ-เว้นภาษี SMEs 3 ปี

กกร.เปิดข้อเสนอเร่งด่วนช่วยภาคธุรกิจ ยกเว้นภาษีเอสเอ็มอี 3 ปี-ออกค่าใช้จ่ายวัคซีนโควิดให้พนักงานลดหย่อนภาษี 2 เท่า-ขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี-ให้เอกชนนำเข้าวัคซีนเสรี คาดผลกระทบล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 3-4 แสนล้านบาท

วันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปีจากผลกระทบโควิด-19 ต่อเนื่องไปยังในครึ่งหลังของปีนี้ ภายหลังจากการควบคุมแพร่ระบาดยังไม่ประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะใช้มาตรการล็อกดาวน์มาแล้ว 14 วัน และมีการขยายมาตรการออกไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดย กกร.ได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้หดตัว -1.5-0% 

ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ e-Tax และ 2.เสนอภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป จากเดิมอยู่ที่ 40% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากขึ้น

และ 3.เสนอขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษี ในปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 31ธันวาคม 2565) และ 4.รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ 5.เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย และ 6.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น 

7.ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 และ 8.ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา “ฟาวิพิราเวียร์” ที่กำลังมีความต้องการสูง

“เศรษฐกิจไทยยังวิกฤตและเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ และการยกระดับและขยายพื้นที่ครั้งนี้ประเมินผลกระทบเพิ่มเติมเป็น 3-4 แสนล้านบาท โดยพื้นที่สีแดงเข้ม มีสัดส่วนถึง 78% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้มีการยกระดับใกล้เคียงเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสูงกว่า 2 หมื่นราย ดังนั้น เรื่องการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีนเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งอยากให้ภาครัฐเร่งแก้กฎระเบียบเพื่อให้การนำเข้าวัคซีนทำได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนทางเลือก โดยให้เป็นไปตามกติกาและกฎระเบียบของ WHO 

นอกจากนี้ จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาภาคเอกชนมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการเยียวยาพนักงานสูงพอสมควร จึงอยากเสนอให้มีการสนับสนุนการลดหย่อนภาษีหรือหักภาษีได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลป้องกันโควิด-19 ซึ่งหากดูเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท ซึ่งหากเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐดูแลผู้ป่วย มองว่าคุ้มค่าที่จะสามารถช่วยป้องกันคนไข้กลุ่มสีแดงได้ หากกรณีที่รัฐบาลจัดหาวัคซีนไม่ทัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนออยากให้ภาครัฐช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดการดูแลพนักงานในการป้องกันโควิด-19 ในลักษณะคนละครึ่ง ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์ทั้งหมด เพราะหากไม่สามารถแยกคนป่วยกับคนไม่ป่วยออกจากกันได้ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจพังได้