ดอลลาร์แข็งค่า นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐวันศุกร์นี้

เงินดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/8) ที่ระดับ 33.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/8) ที่ระดับ 33.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบกับสกุลหลัก หลังจากที่เมื่อคืนนี้ นายริชาร์ด แคลริด้า รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะบรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงานและเงินเฟ้อของเฟดภายในปลายปีหน้า ซึ่งจะทำให้เฟดกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติ นั่นก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของตนเองเป็นจริง ก็คาดว่าเฟดจะประกาศปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ภายในปีนี้

ในขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคมของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 926,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่เพิ่มขึ้น 850,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งหากตัวเลขการจ้างงานออกมาแข็งแกร่ง ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดเริ่มปรับลดวงเงิน QE นอกจากนั้น นักลงทุนยังจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 ส.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณที่ชัดเจนกับแนวโน้มการดำเนินนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังจากที่เมื่อวานนี้ กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยลง ทั้งในปี 2564 และ 2564 นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้นเพียง 0.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.97% ซึ่งการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาลและการลดลงของราคาอาหารสดบางประเภท

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Cove CPI) เดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้นเพียง 0.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 แต่น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.26% ในขณะที่นักลงทุนยังคงติดตามยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากที่ในวันนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 20,920 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศระลอกใหม่อยู่ที่ 664,442 ราย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ ถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่า อยู่ในกรอบระหว่าง 33.09-33.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (5/8) ที่ระดับ 1.1838/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (5/8) ที่ระดับ 1.1853/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระหว่างวัน หลังจากมีประกาศยอดสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของเยอรมนี ประจำเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน มากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.9% หลังจากที่ลดลง 3.2% ในเดือนก่อนหน้า โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.18311.1850 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1838/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/8) ที่ระดับ 109.46/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดี (5/8) ที่ระดับ 109.16/18 เยน/ดอลลาร์ ญี่ปุ่นเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มากกว่า 14,000 ราย ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่น ด้านนายชิเงรุ โอมิ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาเรื่องไวรัสโคโรนาของรัฐบาลญี่ปุ่น เรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยกล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ประชาชนเริ่มเฉยชากับการระบาดและประกาศฉุกเฉินที่ใช้มา 5 ครั้งแล้ว โดยในขณะนี้ กรุงโตเกียวและอีก 5 จังหวัดเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน แต่การระบาดก็ไม่มีแนวโน้มลดน้อยลง โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.47-109.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.59/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (5/8), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนของเยอรมนี (6/8), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (6/8)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.40/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.30/3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ