ผวาเศรษฐกิจไทยถดถอยซ้ำ กนง.จี้ประสาน 3 มาตรการพยุงประเทศ

เศรษฐกิจถดถอย-GDP

เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยง “ถดถอย” โดยอาจจะหดตัวต่อเนื่องอีกปี อันเนื่องมาจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงขึ้นจนคุมไม่อยู่ กระทั่งรัฐบาลต้องงัดมาตรการ “ล็อกดาวน์” กลับมาใช้ ทว่า ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ก็ยังทำสถิติสูงสุดใหม่แทบทุกวัน

กกร.ชี้คุมโควิดไม่อยู่ฉุดจีดีพีหด

ส่งผลให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2564 เป็น -1.5% ถึง 0.0% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี จากโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบตลอดครึ่งปีหลัง การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ประสบความสำเร็จ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงจำนวนผู้ป่วยสะสมในโรงพยาบาลยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง

ทั้งนี้ กกร.เห็นว่าหากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศยังทำได้ช้า ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่ยังต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดไตรมาส 4 รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก

และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม

“กรุงศรีฯ”ชี้ เศรษฐกิจส่อถดถอย 2 ปี

สอดคล้องกับ “ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้มีความเสี่ยงขาลงมีมากกว่าความเสี่ยงด้านขาขึ้น โดยกรุงศรีได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือ 1.2% แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจก็คงมากกว่านี้

“ถ้าการล็อกดาวน์ยาวไปถึงปลายปี ก็จะทำให้ GDP ของไทยปีนี้จะหดตัว -0.5% เรียกว่าทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปี” ดร.สมประวิณกล่าว

กนง.หั่นจีดีพีรอบพิเศษ

เช่นเดียวกับ “ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่แถลงหลังการประชุม กนง.เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและขยายวงกว้าง ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบางมากขึ้นธปท.จึงได้ปรับประมาณการ GDP ปีนี้เหลือ 0.7% จากเดิมคาด 1.8% ส่วน GDP ปี 2565 ปรับลดจาก 3.9% เหลือ 3.7%

“เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ คณะกรรมการ กนง.จึงเห็นควรให้ทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจเพิ่มเป็นพิเศษในครั้งนี้จากรอบปกติ” นายทิตนันทิ์กล่าว

เสียงแตกให้ลดดอกเบี้ยพยุง ศก.

ทั้งนี้ คณะกรรมการ กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% โดยคณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมินไว้ และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาด และการกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังและทางการเงิน จะต้องช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้น

“การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดัน ผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า มาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงดอกเบี้ยไว้ ขณะที่กรรมการอีก 2 ราย เห็นควรให้ลดดอกเบี้ย เพื่อเป็นมาตรการเสริม ในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า” นายทิตนันทิ์กล่าว

จี้ประสาน 3 มาตรการฟื้น ศก.

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจ โดย “มาตรการด้านสาธารณสุข” ควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ ขณะที่ “มาตรการทางการคลัง” ควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจในจุดที่เปราะบางเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอและทันการณ์

ส่วน “นโยบายทางการเงิน” ต้องสนับสนุนให้ภาวะทางการเงินโดยรวมผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ สินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์ พักหนี้ รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

“คณะกรรมการ กนง.ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้มาตรการการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น” นายทิตนันทิ์กล่าว

น่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจใช้ยาที่แรงขึ้น และแก้ปัญหาให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยดิ่งลึกไปมากกว่านี้