ดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ สูงเกินคาด

FX-เงินบาท-ธนบัตร-ดอลลาร์

ดอลลาร์แข็งค่า หลังตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ สูงเกินคาด ขณะที่ค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงภายในประเทศ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.43/45 บาท/ดอลลาร์ สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงิตรต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า  สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/8) ที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/8) ที่ระดับ 33.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเทียบสกุลหลักและสกุลในภูมิภาค หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด และตลาดได้มองข้ามความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในสหรัฐ

โดยเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (6/8) กระทรวงแรงงานสหรัฐได้รายงานว่าตวัเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 943,000 ตำแหน่ง ในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 845,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นจากระดับ 938,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.4% ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.7% หลังจากแตะระดับ 5.9% ในเดือนมิถุนายน จากการที่ตัวเลขการจ้างงานแข็งแกร่งขึ้นนั้นสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ยิ่งทำให้นักลงทุนคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงภายในประเทศช่วงนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.41-33.465 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.43/45 บาท/ดอลลาร์ สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (9/8) ที่ระดับ 1.1752/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/8) ที่ระดับ 1.1806/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร ค่าเงินยูโรร่วงลงตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยโูรโซนในวันนี้ (9/8)

โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนจากสถาบัน Sentix ระบุว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนในยูโรโซนประจำเดือนสิงหาคมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 22.2 ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 29.0 และร่วงลงจากระดับ 29.8 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งดัชนีได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากความกังวลเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของยูโรโซน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1750–1.1758 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1753/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยโูร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/8) ที่ระดับ 110.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/8) ที่ระดับ 109.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากสหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่สูงเกินคาด

ปัจจัยดังกล่าวยังได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.30% ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับค่าเงินเยนที่ให้อัตราผลตอบแทนต่ำกว่า โดยเปรียบเทียบระหว่างวันค่าเงินเยนค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากในวันนี้ (9/8) เป็นวันหยดุประจำชาติญี่ป่น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.05-110.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 110.12-14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐเดือนมิถุนายน (9/8), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี จากสถาบัน ZEW เดือนสิงหาคม (10/8), ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจากสถาบัน ZEW เดือนสิงหาคม (10/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนี เดือนกรกฎาคม (11/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือนกรกฎาคม (11/8),

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สหราชอาณาจักร ไตรมาส 2 (12/8), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักรเดือนมิถุนายน (12/8), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนมิถุนายน (12/8), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนกรกฎาคม (12/8), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือนสิงหาคม (13/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.65/0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 4.60/6.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ