ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี มีผลแล้ววันนี้ (11 ส.ค.)

เงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ควรทำอย่างไร
แฟ้มภาพ

วันนี้ถือเป็นวันแรก ที่สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก ปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นวันแรกที่สถาบันการคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากมาลงอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน จากเดิมอยู่ที่ 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก

โดยมีวัตถุประสงค์ 2 เรื่องหลัก คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และการคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 และปรับลดวงเงินคุ้มครองแต่อย่างใด

คุ้มครองบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท

สำหรับผู้ที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากนั้น จะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินของไทยภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากรวมทั้งสิ้น 35 แห่ง โดยคุ้มครองบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่

  1. เงินฝากกระแสรายวัน
  2. เงินฝากออมทรัพย์
  3. เงินฝากประจำ
  4. บัตรเงินฝาก
  5. ใบรับฝากเงิน

โดยผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ดังนั้น ผู้ฝากเงินรายย่อยไม่ต้องตกใจ เนื่องจากการคุ้มครองวงเงินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ หรือโดนเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งหากดูสถานะของสถาบันการเงินในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2540

ทั้งนี้ ผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งผู้ฝากเงินไม่ต้องดำเนินการใด ๆ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยวงเงินคุ้มครองจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ของผู้ฝากแต่ละรายในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกัน

ผลกระทบหลัง สคฝ.ลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบภายหลังจาก สคฝ. ประกาศลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงินนั้น มองว่า ผลกระทบคงไม่มาก คงไม่ได้เห็นการไหลออกของเงินฝากที่อยู่ในสถาบันการเงิน

แม้ว่าเงินฝากจะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท แต่หากดูตัวเลขเงินฝากบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับการคุ้มครองในแง่จำนวนบัญชีครอบคลุมถึง 98.3% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด จากปัจจุบันมีอยู่ 109 ล้านบัญชี และครอบคลุมในแง่เม็ดเงิน 21% จากยอดเงินฝากรวมที่มีอยู่ 15.2 ล้านล้านบาท

โดยในจำนวนดังกล่าวมีสัดส่วนเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาท ประมาณ 80% หรือคิดเป็นวงเงินฝากอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท และจำนวนบัญชีอยู่ที่ 1.7 ล้านบัญชี ซึ่งในช่วงก่อนโควิด-19 จนถึงปัจจุบันราว 1 ปี จะเห็นว่าเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทยังมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยมีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 6.7 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินฝากที่มีต่ำกว่า 1 ล้านบาทไม่เห็นการเติบโต

ด้านนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เผยว่า วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาท มีผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

ข้อมูลเงินฝาก ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันมีจำนวนทั้งหมด 83.72 ล้านราย เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปีก่อน พบว่าจำนวนผู้ฝากเพิ่มขึ้น 1,337,334 ราย หรือเพิ่มขึ้น 1.62% โดยจำนวนผู้ฝากที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผู้ฝากรายย่อยซึ่งมีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดเป็น 97% ของจำนวนผู้ฝากที่เพิ่มขึ้น และเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวนทั้งสิ้น 15.28 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 347,940 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.33% จากสิ้นปีก่อน

ธปท.เปิด 3 ความเข้าใจผิด ลดวงเงินเหลือ 1 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจง 3 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลดวงเงินคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) จาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท

ความเข้าใจผิดที่ 1 เงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท จะไม่ได้รับคืน

ธปท.ระบุว่ามีสิทธิได้รับคืน โดยเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อสถาบันการเงิน จะได้รับความคุ้มครองทันที ขณะที่เงินฝากส่วนที่เกิน ยังมีสิทธิได้รับคืน แต่ต้องรอการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจะได้รับคืนตามลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย

ความเข้าใจผิดที่ 2 ลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เพราะสถาบันการเงินมีปัญหา

ธปท.ชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกันการลดวงเงินคุ้มครอง เนื่องจากเป็นไปตามแผนที่กำหนดเดิมของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยตั้งแต่ปี 2551 ได้กําหนดวงเงินคุ้มครองลดลงเป็นขั้นบันไดมาเป็นลำดับ เพื่อให้ประชาชนคุ้นเคยและค่อย ๆ ปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ดังนี้

  • ปี 2551 คุ้มครองเต็มจำนวน
  • ปี 2555 คุ้มครอง 50 ล้านบาท
  • ปี 2558 คุ้มครอง 25 ล้านบาท
  • ปี 2559 คุ้มครอง 15 ล้านบาท
  • ปี 2561 คุ้มครอง 10 ล้านบาท
  • ปี 2562 คุ้มครอง 5 ล้านบาท
  • ปี 2564 คุ้มครอง 1 ล้านบาท

ธปท.อธิบายด้วยว่า เดิมเคยกำหนดจะปรับลดเหลือ 1 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2555 แต่ขยายเวลามาเรื่อย ๆ จากความผันผวนของตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้กำหนดวงเงินคุ้มครองต่ำกว่านี้แล้ว

ปัจจุบันสถาบันการเงินมีฐานะเข้มแข็ง ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ จากเงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และยังสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สถาบันการเงินยังมีศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการทางการเงิน และรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยมีเงินกองทุน (BIS ratio) อยู่ที่ 20.04% และสภาพคล่อง (LCR) อยู่ที่ 186.54%

ความเข้าใจผิดที่ 3 การปรับลดวงเงินคุ้มครอง ในช่วงโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ชี้แจงว่า การลดวงเงินไม่กระทบผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ เพราะวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทนี้ มีผู้ฝากเงินที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน 82 ล้านราย หรือคิดเป็น 98% ของผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองทั้งระบบอยู่แล้ว และ

หากพิจารณาการดำเนินการในลักษณะเดียวกันของต่างประเทศ พบว่า ไม่มีหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากปรับเพิ่มวงเงินคุ้มครองในช่วงโควิด-19 ทั้งนี้ จากข้อมูล วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท มีสัดส่วน 98% และมากกว่า 1 ล้านบาท มีสัดส่วนเพียง 2%