ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป แจ้ง ดีล “หมอบุญ” นำเข้าวัคซีน mRNA ยังไม่สำเร็จ

หมอบุญไม่ถอย

“ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป” ทำหนังสือชี้แจง “ตลาดหลักทรัพย์ฯ-ก.ล.ต.” แล้ว ! แจง 3 ประเด็น “การให้ข่าว-มัดจำ-สาเหตุดีลนำเข้าวัคซีน mRNA ไม่ประสบความสำเร็จ”

วันที่ 12 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ได้ทำหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และชี้แจงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เกี่ยวกับดีลการนำเข้าวัคซีนที่ปรากฏเป็นข่าว และทางสำนักงาน ก.ล.ต.สอบถาม โดยให้ชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับสัญญากับตัวแทนในสหรัฐอเมริกาเพื่อสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ บริษัทได้ชี้แจงใน 3 ประเด็นดังนี้ 1.นายแพทย์บุญ วนาสิน และบริษัท ไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลแก่สำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งตามที่กล่าวอ้างว่านายแพทย์บุญ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการนำเข้าวัดชีนโควิด-19 ชนิด mRNA ร่วมกับกระทรวงกลาโหม โดยจะมีการทำสัญญาร่วมกัน และระบุว่าจะสามารถนำวัดชีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข้ามาภายในเดือนสิงหาคม แต่อย่างใด

โดยนายแพทย์บุญ และบริษัท ไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของการให้ข้อมูลดังกล่าวและเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 บริษัทได้ดำเนินการแจ้งให้สำนักงานข่าวดังกล่าวแก้ไขข้อมูลที่นายแพทย์บุญ และบริษัทไม่ได้เป็นผู้ให้ข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำสัญญาความร่วมมือกับกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยกำหนดให้บริษัทเป็นพันธมิตรฝ่ายหนึ่ง มีหน้าที่เบื้องต้นในฐานะผู้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 และสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เอกสารลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2564

2.บริษัทไม่ได้วางมัดจำหรือถูกริบมัดจำที่วางไว้ (ไม่ว่าจะเป็นในรูปของเงินสดหรือทรัพย์สินอื่นใด) ต่อ
บุคคล หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานใดดังที่เป็นข่าว

3.สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับสัญญากับตัวแทนในสหรัฐอเมริกา เพื่อสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 (จำนวน 20-40 ล้านโดส) บริษัทชี้แจงว่าบริษัทฯ ได้รับเอกสารลงนามจากตัวแทนผู้จำหน่าย ดังนี้ 1) หนังสือยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทผู้ผลิตวัคชีน mRNA และตัวแทนผู้จำหน่าย ซึ่งออกโดยสำนักงานกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา 2) ใบสั่งซื้อ (Pro forma Invoice) 3) สัญญาจะซื้อจะขาย (Sale and Purchase Agreement) และ 4) ข้อตกลงการชำระเงิน (Escrow Agreement) โดยบริษัทเอกชนที่ถือหุ้นใหญ่โดยหน่วยงานรัฐ เป็นพันธมิตรฝ่ายไทยที่มีหน้าที่ลงนามใบเอกสารในฐานะคู่สัญญาจะซื้อจะขายในเอกสารข้างต้น

ทั้งนี้ บริษัทได้ว่าจ้างสำนักงานกฎหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และประเมินความเสี่ยงด้านกลไกการชำระเงินของเอกสาร โดยได้ต่อรองเพื่อลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของพันธมิตรและบริษัท ทั้งนี้ พันธมิตรทุกฝ่ายได้พิจารณาร่วมกันชะลอการเข้าทำธุรกรรมกับกับตัวแทนจำหน่ายรายนี้ เนื่องจากไม่สามารถลดความเสี่ยงที่มีต่อพันธมิตรที่มีหน้าที่ลงนามในสัญญาได้

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรและบริษัท ตามสัญญาความร่วมมือยังดำเนินการติดต่อตัวแทนผู้จำหน่ายรายอื่นในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โคยพิจารณาด้วยความระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงทางธุรกรรมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ชนิดวัคซีน จำนวน และระยะเวลาการนำเข้ายังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากตลาดโลกมีความต้องการวัคชีนสูง จึงมีการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขผู้ขายอยู่ตลอดเวลาระหว่างการพิจารณาเอกสารของฝั่งผู้ซื้อ

ทั้งนี้ พันธมิตรและบริษัท ยังเปิดรับพันธมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาร่วมกันดำเนินการหาวัคซีนมาให้ได้เร็วที่สุด

ซึ่งบริษัท หวังว่าความพยายามด้วยความตั้งใจดำเนินการของบริษัทจะเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ประเทศได้ฝ่าวิกฤตและประชาชนชาวไทยสามารถเข้าถึงวัดซีนเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสไควิด -19 รวมถึงไวรัสกลายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้