ยืดล็อกดาวน์ทุบ “จีดีพี-หุ้น” โบรกฯหวั่นก.ย.-ต.ค.ไม่จบ ฉุดกำไรบจ.ทรุด

โบรกฯหวั่น “ล็อกดาวน์” ยาวฉุดจีดีพีติดลบ-หุ้นหลุด 1,500 จุด-กำไร บจ.ทรุด“บล.กสิกรไทย” ประเมินล็อกดาวน์ทุบ GDP เสียหายเดือนละ 2.5 แสนล้านบาท ฟาก “บล.เอเซีย พลัส” คาดกรณีเลวร้ายหากล็อกดาวน์ยืดเยื้อกดดัชนีแตะ 1,485 จุด ชี้หุ้นกลุ่ม “ท่องเที่ยว-ค้าปลีก-ก่อสร้าง-ศูนย์การค้า-ขนส่ง-บันเทิง” ไตรมาส 3 เสี่ยงขาดทุน

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศ มีโอกาสสูงที่ภาครัฐจะขยายมาตรการล็อกดาวน์ไปถึงสิ้นเดือนก.ย. 2564

โดยฝ่ายวิจัยประมาณการไว้ว่า ภายใต้ล็อกดาวน์ทุก ๆ เดือน จะกระทบทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายของเศรษฐกิจประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และหากขยายล็อกดาวน์ไปจนถึงเดือน ต.ค. 2564 เศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสติดลบสูง

“รอบนี้ไม่ได้ล็อกดาวน์แค่ภาคบริการ แต่ภาคการผลิตและส่งออก ก็ได้รับผลกระทบด้วย โดยเบื้องต้นอาจจะไม่ได้ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ โดยยอดการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในระดับ 60-70% ขึ้นไป และมีระบบสาธารณสุขที่ค่อนข้างดีกว่าต่างจังหวัด ดังนั้นภาพการล็อกดาวน์มีโอกาสจะเห็นการเพิ่มพื้นที่ในต่างจังหวัด จากเดิมกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัดอีกได้” นายสรพลกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยสัดส่วนประมาณ 50% มาจากในกรุงเทพฯและปริมณฑล ประเมินจากรายได้ของบริษัทเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือM ที่เป็น food chain เบอร์ 1 ของประเทศและบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)หรือ CPN ห้างสรรพสินค้าหลักของประเทศที่คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 50% จากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล

ส่วนอีก 60 จังหวัดที่เหลือมีรายได้ 50% เพราะฉะนั้น ถ้าล็อกดาวน์ต่างจังหวัด แต่คลายล็อกดาวน์กรุงเทพฯจะช่วยชดเชยได้มาก

นายสรพลกล่าวต่อว่า ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทย ถ้ารัฐขยายล็อกดาวน์ไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.จริง ประเมินกำไรต่อหุ้น (EPS) ของ SET Index จะมีดาวน์ไซด์ต่ำกว่า 80 บาทต่อหุ้น และคาดการณ์กรอบดัชนี SET Index จะหลุด 1,500 จุด ไปอยู่ที่บริเวณ 1,480 จุด

ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจภายในประเทศ (domesticplay) จะถูกกระทบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหุ้นที่อิงกำลังซื้อต่างจังหวัดจำนวนมาก อาทิ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง, ค้าปลีก, ธนาคาร เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เจอผลกระทบก่อนเต็ม ๆ คือ กลุ่มค้าปลีก

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยมองการขยายล็อกดาวน์ยืดเยื้อออกไป จะมีผลกระทบ 2 ส่วน คือ 1.ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และ 2.ดาวน์ไซด์ต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนโดยประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจอ้างอิงประมาณการของหอการค้าไทย หากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ 1 เดือน ความเสียหายจะตกประมาณ 2-3 แสนล้านบาท

โดยประเมินการบริโภคภาคครัวเรือนจะชะลอลงในไตรมาส 3 และจะมีการทยอยปรับลดการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้ซึ่งมีโอกาสสูงที่ GDP จะติดลบ แม้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคาดการณ์เศรษฐกิจโต 0.7% แต่ยังไม่รวมผลกระทบดังกล่าว

ส่วนกำไร บจ.มีผลกระทบชัดเจนในงวดงบการเงินไตรมาส 3 ปีนี้ โดยจะมีการทยอยปรับลดประมาณการ EPS ของปีนี้ลง โดยฝ่ายวิจัยเอเซีย พลัส คาดการณ์กำไรต่อหุ้นของ บจ.ทั้งตลาด อยู่ที่ 71.2 บาทต่อหุ้น(คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.1 แสนล้านบาท) ซึ่งค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบ Bloomberg Consensus ที่มีค่าเฉลี่ย 83.5 บาทต่อหุ้น ดังนั้นมีโอกาสจะถูกปรับลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น

ทั้งนี้ เซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ 1.ท่องเที่ยว 2.ขนส่ง 3.ค้าปลีก 4.ก่อสร้าง 5.บันเทิง และ 6.ศูนย์การค้า โดยประเมินกำไรในช่วงไตรมาส 3 มีโอกาสขาดทุนและหดตัว

“ประเมินแนวรับของ SET Index ไว้ 2 ส่วน คือ 1,500-1,510 จุด เป็นแนวรับเชิงจิตวิทยา ถ้าหลุดมองแนวรับถัดไปบริเวณ 1,485 จุด ซึ่งเป็นจุดแนวรับสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะช่วงปีก่อนที่เริ่มเกิดโควิด ถ้าหลุดระดับดังกล่าวมีโอกาสเปิดดาวน์ไซด์ไปสู่บริเวณ 1,240 จุด แต่ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าหลุด 1,500 จุด” นายฐกฤตกล่าว