คนไทยแห่ลงทุนหุ้นนอก หนุนกองทุน FIF ฮอต !

ภาพประกอบข่าวการลงทุน-กราฟ-หุ้น-ดัชนี-ตลาดหุ้น-ลงทุน
Photo by Frank Busch on Unsplash

ตลาดหุ้นไทยถูกมองว่า “ไร้เสน่ห์” ในระยะหลังจึงไม่ค่อยมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นต่างประเทศมีความน่าสนใจกว่ามาก

ซึ่งนอกจากต่างชาติไม่สนใจแล้วนักลงทุนไทยเองนับวันก็ยิ่งออกไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า

โดยข้อมูลจาก มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่ไม่รวม term fund มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงขึ้นไปทะลุระดับ 1 ล้านล้านบาท ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 มีเงินไหลเข้ากอง FIF สุทธิ 4.2 หมื่นล้านบาท รวมแล้วครึ่งแรกของปีมีเงินไหลเข้าสะสม 1.9 แสนล้านบาท

เมื่อเข้าไปดูผลตอบแทนเฉลี่ยของ FIF ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) พบว่า กองทุนที่ลงทุนในหุ้นของประเทศอินเดีย (India Equity) ให้ผลตอบแทนสูงสุดอยู่ที่ 21.9% ย้อนหลัง 1 ปี อยู่ที่ 50.7% รองลงมา คือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นยุโรป (Europe Equity) ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 21.5% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 37.9% (ดูตาราง)

ขาดแรงซื้อ LTF ทำเงินไหลออก

“นางสาวชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ฯกล่าวว่า การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะกับตลาดนั้น ๆ อย่างที่กำลังเกิดกับกองทุนหุ้นจีนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ จากมาตรการที่ทางการจีนคุมเข้มธุรกิจบางประเภท

“ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่ได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงยังไม่สร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศ ประกอบกับขาดแรงซื้อจากกองทุนรวมระยะยาว หรือ LTF ที่ในอดีตจะมีการลงทุนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งปี 2563 เป็นปีแรกที่ไม่มีเม็ดเงิน LTF และเป็นปีที่มีเงินไหลออกสุทธิในไตรมาสสุดท้ายเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี จึงเป็นไปได้ว่า กองทุนหุ้นไทยจะมีทิศทางเงินไหลออก ในครึ่งหลังของปีนี้”

คนไทยแห่ลงทุนนอกมากขึ้น

ขณะที่ “นายไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย(FETCO) กล่าวว่า สิ่งที่คนส่วนใหญ่มักกังวลคือ เรื่องของเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าประเทศน้อยลง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นคือ คนไทยก็นำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

โดยหากดูตัวเลขของคนไทยที่นำเงินไปซื้อกอง FIF ล่าสุด (ณ ก.ค. 2564) ตัวเลขพุ่งขึ้นไป 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะกอง FIF ที่ลงทุนในหุ้น เพิ่มจากเมื่อปลายปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 220,000 ล้านบาท เป็น 580,000 ล้านบาทแล้ว

ซึ่งสาเหตุที่คนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพราะตลาดหุ้นในประเทศน่าสนใจน้อยลง เนื่องจากไทยไม่ได้มีหุ้นใหม่ ๆ ที่เป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ (new economy) และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ

จี้รัฐเร่งสร้างความมั่นใจนักลงทุน

“เศรษฐกิจไทยยังคงรั้งท้ายอยู่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตไปไกลกว่า กลายเป็นปัญหาที่น่าห่วง ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากขึ้น มีการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน เพื่อดึงให้คนไทยนำเงินกลับมาลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 อาจจะได้เห็นเงินไทยหยุดไหลออก หรือไหลออกน้อยลง”

ขณะที่ “นายเกษม พันธ์รัตนมาลา” CFAกรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตัวเลขคนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ (TDI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2559 ก่อนจะเผชิญโควิด และโตต่อเนื่องมาถึงปีนี้ โดยนักลงทุนเริ่มหันไปลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันมากขึ้น เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

“นักลงทุนมองเห็นถึงผลตอบแทนที่ดีกว่าจากการลงทุนในต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่ดีนัก รวมถึงไม่ค่อยมีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี สินค้าไฮเทค สมาร์ทโฟน หรือรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งต้องมีเงินทุนใหม่ ๆ มารองรับ ทำให้ไทยขาดความน่าสนใจ นักลงทุนไทยจึงต้องออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ”

ไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวได้

ฟาก “นายวศิน วณิชย์วรนันต์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย กล่าวว่า การที่นักลงทุนในไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบหรือสะท้อนถึงปัญหาสภาพคล่องภายในประเทศ แต่เป็นการสะท้อนถึงเรื่องของผลตอบแทนและความน่าสนใจของการลงทุน

รวมถึงสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของตลาดไทยกับต่างประเทศ เพราะไทยไม่มีเศรษฐกิจสมัยใหม่ และการลงทุนส่วนใหญ่ยังมาจากนักลงทุนในประเทศ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ความน่าสนใจของการลงทุนรวมถึงผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยก็ลดน้อยลง

“มองว่าไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ เนื่องจากตลาดในหลาย ๆ ประเทศเริ่มเต็มมูลค่า (full value) ระดับหนึ่ง ในขณะที่ไทยมีปัจจัยลบเข้ามา กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมถึงช่วงท้ายของปีที่จะมีความน่าสนใจของกองทุน SSF (กองทุนรวมเพื่อการออม) ที่มีลดหย่อนภาษีเข้ามา ก็อาจจะช่วยดึงความสนใจของนักลงทุนได้” นายวศินกล่าว

ทั้งหมดนี้ ในระยะสั้น ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องคงต้องเร่งแก้ปัญหาความเชื่อมั่นด้วยการดูแลเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำสวนทางกับโลกไปมากกว่านี้ และคงต้องทำไปกับแผนพัฒนาตลาดทุน ที่ต้องสร้างเสน่ห์ให้ตลาดหุ้นไทยโดยเร็ว ก่อนจะเสียโอกาสไปมากกว่านี้