ตลาดผันผวนหลังการเปิดเผยเงินเฟ้อสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ตลาดผันผวนหลังการเปิดเผยเงินเฟ้อสหรัฐ รวมถึงตัวเลขด้านการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ถือเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เงินบาททิศทางยังอ่อนค่า หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดยังอยู่ในระดับสูง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคม ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (9/8) ที่ระดับ 33.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/8) ที่ระดับ 33.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐภายหลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขด้านการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาด ทำให้ตลาดได้มองข้ามความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในสหรัฐไป

โดยเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (6/8) กระทรวงแรงงานสหรัฐได้รายงานว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 943,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 845,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้นจากระดับ 938,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน

ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 5.4% ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.7% ในเดือนมิถุนายน

นอกจากนั้นแล้ว ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีการเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน พุ่งขึ้น 590,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.1 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน จากระดับ 9.50 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2543 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9.27 ล้านตำแหน่ง

ทั้งนี้ตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งขึ้นนั้นถือเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐ และส่งผลให้นักลงทุนคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 26-28 สิงหาคมนี้

อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวอ่อนค่าลงอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนกรกฎาคมเมื่อเทียบรายเดือน

สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมิถุนายน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 5.4% ในเดือนกรกฎาคม ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ที่ระดับ 5.3% หลังจากทะยานขึ้น 5.4% เช่นกันในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551

นอกจากนี้หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นเพียง 0.3% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนมิถุนายน และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 4.3% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากพุ่งขึ้น 4.5% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากพุ่งขึ้น 4.5% ในเดือนมิถุนายน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าโดยได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ท่ามกลางการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับสูงเหนือระดับ 2 หมื่นรายต่อวัน

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทได้เริ่มปรับตัวแข็งขึ้นอีกครั้งในช่วงท้ายตลาดวันพุธ (11/8) เนื่องจากมีแรงขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อทำกำไรออกมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 33.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และไม่สามารถผ่านแนวต้านไปได้

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.98-33.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 33.32/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (9/8) ที่ระดับ 1.1752/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/8) ที่ระดับ 1.1806/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรร่วงลงตามการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของยูโรโซน

โดยในวันจันทร์ (9/8) มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในยูโรโซนประจำเดือนสิงหาคมซึ่งลดลงมาอยู่ที่ระดับ 22.2 ต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 29.0 และร่วงลงจากระดับ 29.8 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งดัชนีได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจากความกังวลเกี่ยวกับการล็อกดาวน์ในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักของยูโรโซน

ขณะที่ในวันพุธ (11/8) มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ซึ่งลดลงมาที่ระดับ 40.4 ในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 56.7 และลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระดับ 63.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ของเยอรมนีเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายเดือน เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่ม 0.4%

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับค่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ในตลาดในช่วงคืนวันพุธจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1708-1.1758 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 1.1736/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (9/8) ที่ระดับ 110.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/8) ที่ระดับ 109.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจภาวะปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 48.4 ในเดือนกรกฎาคม มากกว่าระดับ 47.6 ในเดือนมิถุนายน


นอกจากนั้นแล้วตลาดยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินเยนได้ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.05-110.80 เยน/ดอลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/8) ที่ระดับ 110.29/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ