จับตาตัวเลขจีดีพี Q2/64 หดตัว-2.6% กดดันเงินบาทอ่อนค่า 33.65 บาท

แฟ้มภาพ

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาท 33.15-33.65 บาทต่อดอลลาร์ จับตาสภาพัฒน์ฯ ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 คาดออกมาหดตัว -2.6% ส่งสัญญาณ กนง. ลดดอกเบี้ยอาร์พี กดดันเงินบาทอ่อนค่าแตะ 34 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมติดตามตัวเลขค้าปลีกจีน-สหรัฐฯ

วันที่ 15 สิงหาคม 2564 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 16-20 สิงหาคม 64) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.15-33.65 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/64 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)

หากตัวเลขออกมาต่ำกว่าคาดหรือติดลบ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) อาจกดดันค่าเงินบาทอ่อนค่าสู่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ภายในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของประเทศจีน ซึ่งจะประกาศตัวเลขผลิตรายอุตสาหกรรมและการลงทุน และยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. หากตัวเลขออกมาต่ำกว่า 10% จากเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 12% จะมีผลต่อบรรยากาศ (Sentiment) ตลาดเอเชีย ซึ่งจะกระทบต่อภาคการส่งออก

รวมถึงตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ จะถูกกระทบจากการกลับมาระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามากน้อยแค่ไหน และการให้สัมภาษณ์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ ซึ่งจะผลต่อการตีความของตลาด

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วง(วันที่ 9-13 สิงหาคม 64) พบว่า ตลาดหุ้นขายออกสุทธิ 3,200 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 8,400 ล้านบาท

“กรอบที่เราให้ 33.15-33.65 บาทต่อดอลลาร์ เป็นกรอบที่ยังเป็นแนวที่พอไปได้ ซึ่งภาพโควิด-19 ยังเป็นประเด็นสำคัญต่อดีมานด์ค่าเงินบาท หากเหตุการณ์แย่คนก็ไม่อยากถือ หากมีการปิดท่าเรือหรือแฟคตอริ่ง ซึ่งจะกดดันค่าเงินในภูมิภาคเอเชียไปในทางอ่อนค่าหมด แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าระยะหนึ่ง เพราะตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาไม่ดี ทำให้ค่าเงินบาทรีเวิร์สกลับมาแข็งค่าก่อนจะกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่กรอบ 33.20-33.50 โดยต้องติดตามข้อมูลตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2 ของไทย ซึ่งตลาดคาดไว้ที่ขยาย 6.3% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัว -2.6% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งหากถ้าออกมาต่ำกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ จะเพิ่มโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยลง

“ข้อมูลต่างประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับ ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ เป็นหลัก ปัจจัยอื่นในประเทศ ก็ยังคงอยู่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อและการฉีดวัคซีน”