สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 1% ชี้ไตรมาส 2 ฐานต่ำโต 7.5%

เศรษฐกิจ

สภาพัฒน์หั่นจีดีพีปีนี้ขยายตัว 1% ชี้ไตรมาส 2 ฐานต่ำโต 7.5%

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 7.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน 4.6% การลงทุนรวม 8.1% ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 27.5% สาขาอุตสาหกรรมขยายตัว  16.8% สาขาขนส่งขยายตัว 11.6%

“เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 2% ซึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว รวมทั้งเป็นการขยายตัวในภาคการส่งออก การให้การบริการด้านอาหาร ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 1.5 แสนคน จากประมาณการเดิม 5 แสนคน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มีโมเมนตัมที่ทำให้การขยายตัวลดลงจากการระบาดช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา” นายดนุชากล่าว

ขณะเดียวกัน ยังได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.7-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1% ภายใต้สมมุติฐานที่คาดว่าตัวเลขการติดเชื้อไวรัสโควิดจะผ่านจุดสูงสุดได้ปลายเดือน ส.ค.นี้ และจะลดลงช่วงปลายเดือน ก.ย. 64 โดยช่วงไตรมาส 4 จะเริ่มเปิดให้ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถที่จะไม่มีการระบาดที่รุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ฐานการผลิต ทั้งนี้คาดว่าการกระจายวัคซีนภายในปีนี้จะสามารถทำได้ 85 ล้านโดส

โดยรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 ในด้านต่าง มีดังนี้

1.การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.0 ในปี 2563 แต่เป็นการปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ภายในประเทศที่ยังคงมีความรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่คาดไว้ และ (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในปี 2563 และเป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 5.1 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับปรับโครงสร้างการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ ซึ่งทำให้สัดส่วนของรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลงจากสมมุติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

2. การลงทุนรวม คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.8 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.4 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ขยายตัวสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา และสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63.9 เทียบกับร้อยละ 55.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน

ส่วนการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.7 เป็นการปรับลดจากร้อยละ 9.3 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมุติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการเบิกจ่ายจริงในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2564 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าสมมุติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่

3. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.5 ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 10.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 13.3 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมุติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม การปรับลดสมมุติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวส่งผลให้คาดว่าการส่งออกบริการจะอยู่ในระดับต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกสินค้า ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการรวมขยายตัวร้อยละ 9.6 เทียบกับร้อยละ 1.8 ในการประมาณการครั้งก่อน และการลดลงร้อยละ 19.4 ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง (2) ข้อจำกัดด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ (3) ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ (4) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ยังมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวอย่างช้า

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2564 คาดจะมาจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย ลงทุนและมาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ (3) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร และ

(4) ฐานการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 16.3 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.1 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ และการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.7 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 – 1.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.0 ของ GDP