10 กองทุนหุ้นนอกรีเทิร์นหรู “ยุโรป” เบียด “จีน” ขึ้นแท่นดาวเด่น

หุ้นเด่น
ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยมากขึ้นต่อเนื่อง เพราะให้ผลตอบแทน (รีเทิร์น) ที่ดีกว่าผลตอบแทนหุ้นไทยที่ไม่ตอบโจทย์นักลงทุนนักในปัจจุบัน

โดยจากข้อมูลของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าผลตอบแทนของกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีอยู่หลายกองที่ลงทุนในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป (ดูตาราง)

อย่างกองทุนหุ้นยุโรปที่ในปี 2563 มีผลตอบแทนที่ไม่ได้สูงนักเฉลี่ยราว 5% แต่กลับมีผลตอบแทนค่อนข้างสูงในปีนี้ และในรอบ 1 เดือนล่าสุดยังคงดีต่อเนื่องหลาย ๆ กองเลยทีเดียว

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส มอร์นิ่งสตาร์ฯอธิบายว่า โซนยุโรปมีความคืบหน้าการกระจายวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้มีการกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงทำให้หุ้นทั้งขนาดใหญ่ไปจนถึงเล็กมีการฟื้นตัวได้ดี

ขณะที่กองทุนหุ้นจีนที่เคยเป็นดาวเด่นในปีที่แล้วกลับให้ผลตอบแทนติดลบมากสุดในปีนี้ โดยเฉพาะในช่วง 1 เดือนล่าสุด ซึ่งเป็นผลกระทบจากกฎเกณฑ์ของทางการจีนที่ออกมาสร้างความกังวลต่อบางธุรกิจและด้านการศึกษา

ทั้งนี้ สำหรับกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นปีนี้ ได้แก่ กองทุน Krungsri Europe Equity ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี มีผลตอบแทนสูงสุดรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาที่ 11.39% โดยผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงปัจจุบัน (YTD) อยู่ที่34.66% ส่วนผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี หรือในปี 2563 อยู่ที่ 20.9%

“กองทุนดังกล่าวมีการลงทุนทั้งหมดไปยังกองทุน Allianz Europe Equity Growth AT EUR ที่เป็นกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ในยุโรปที่มีการเติบโต มีการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี อุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสุขภาพ (healthcare) รวมกันมากกว่า 70%”

ยังมีกองทุนจาก บลจ.กสิกรไทยที่ไปลงทุนกอง Allianz Europe Equity Growth AT EUR เช่นเดียวกัน คือ K European Equity แต่จะมีความต่างกันในแง่ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนและมูลค่าซื้อขั้นต่ำ โดยกองนี้ให้ผลตอบแทน YTD ที่ 27.89% และผลตอบแทนรอบ 1 เดือนที่ 8.48%

ขณะที่กองทุน K Positive Change Equity ของ บลจ.กสิกรไทยอีกกองให้ผลตอบแทน 73.3% ในปี 2563 และผลตอบแทนสะสม YTD ที่ 22% และผลตอบแทนช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 11% โดยกองทุนนี้มีการลงทุนในกลุ่ม healthcare ในสัดส่วนที่สูง

ด้าน หุ้นอินเดีย เป็นอีกตลาดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีผลตอบแทนสูง แม้จะต้องเจอกับสถานการณ์โรคระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง แต่อินเดียยังคงมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนดีในปีนี้ โดยสะท้อนผ่านกองทุน TISCO India Active Equity A ของ บลจ.ทิสโก้ที่มีผลตอบแทนรอบ 1 เดือนที่ 8.8% และผลตอบแทนสะสม YTD ที่ 33.65%

“Ms.Juliet Cohn”, Portfolio Manager, Principal Global Investors กล่าวในงานสัมมนา Virtual Seminar PRINCIPAL INVESTMENT FORUM 2H/2021 จัดโดย บลจ.พรินซิเพิลว่า ตลาดหุ้นในยุโรปมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น จากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวแต่ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นยุโรปยังค่อนข้างถูก

โดยเศรษฐกิจยุโรปมีปัจจัยบวก ทั้งการตั้ง European Recovery Fund (กองทุนฟื้นฟูยุโรป) การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาด (clean energy) ทั้งมีการล็อกดาวน์ป้องกันโควิดเข้มงวดและกระจายวัคซีนได้เร็ว

ขณะที่เงินออมภาคครัวเรือน น่าจะถูกนำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเมือง และมีกิจการที่เป็นแบรนด์ไฮเอนด์และหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ให้ลงทุน

ฟาก “พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือกองทุนบัวหลวง กล่าวว่า กองทุนทางฝั่งยุโรปมีความน่าสนใจและให้ผลตอบแทนที่ดี จากบริษัทที่ทำเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ทั้งกังหันลมและโซลาร์ฟาร์มที่มีอยู่ทางฝั่งยุโรปค่อนข้างมาก เช่น ในประเทศอิตาลี, เดนมาร์ก, เยอรมนี เป็นต้น

“ปัจจุบันคนส่วนมากเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องของความยั่งยืน (ESG) กันมากขึ้น ดังนั้น ยุโรปจึงได้รับความสนใจจากกระแสความยั่งยืนนี้ และให้ผลตอบแทนที่ดี” นายพีรพงศ์กล่าว

ด้าน “วศิน วณิชย์วรนันต์” ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ยุโรปเป็นอีกกลุ่มประเทศที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิดที่ลดน้อยลง ส่งผลให้ผลตอบแทนในตลาดปรับขึ้นตามแนวโน้มของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักร (cycle) ทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวผลตอบแทนหรือความต้องการ (demand) ก็ปรับตัวตามไปด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนไทยจะแห่ลงทุนในกอง FIF กันมากขึ้น โดยเฉพาะกองหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ฟื้นตัวดีกว่าไทย