ผวาโควิดยืดเยื้อ บจ.งดจ่ายปันผล “แสนสิริ-เสนาฯ” เก็บเงินสดตุนสภาพคล่อง

หุ้นไทย ตลาดหุ้น
FILE PHOTO :MANAN VATSYAYANA/AFP

เปิดข้อมูลบริษัทจดทะเบียน 18 แห่ง งดจ่ายปันผลงวด “Q1/Q2/H1” ปี 2564 ผวาวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อ “แสนสิริ-เสนาฯ-ไทยรีฯ-สุธากัญจน์” ตุนสภาพคล่อง-สำรองเงินสดรับมือความไม่แน่นอน-ความเสี่ยงจากโรคระบาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่าในช่วงตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-16 ส.ค. 2564) บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) จำนวน 18 แห่ง ได้ประกาศงดจ่ายปันผลโดยแยกเป็นบริษัทที่งดจ่ายปันผลงวดดำเนินงาน 6 เดือนแรกปีนี้ (1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2564) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1.บมจ.แสนสิริ (SIRI) งดจ่ายปันผลเพื่อรักษากระแสเงินสดไว้เพื่อบริหารความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19

2.บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) งดจ่ายปันผลเพื่อสร้างความแข็งแกร่งโดยตรงต่อธุรกิจด้านการเงิน และเพื่อการลงทุนหรือใช้พัฒนาโครงการ 3.บมจ.อสมท (MCOT) งดจ่ายปันผลเนื่องด้วยผลประกอบการขาดทุนสะสม 4.บมจ.ควอลลีเทค (QLT) 5.บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS)

6.บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และ 7.บมจ.ไทยรีประกันชีวิต (THREL) งดจ่ายปันผลตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ขอความร่วมมือให้งดจ่ายปันผลเพื่อรับมือความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19

8.บมจ.มัลติแบกซ์ (MBAX) 9.บมจ.เอส. แพ็ค แอนด์ พริ้นท์ (SPACK) 10.บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) งดจ่ายปันผลเนื่องจากยังมีผลขาดทุนสะสมกว่า 19.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 11.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี (MNIT) งดจ่ายปันผลเนื่องจากขาดทุนจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน สาเหตุจากค่าเช่าที่ลดลง

ขณะที่บริษัทที่งดจ่ายปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค.-30 มี.ค. 2564 จำนวน 3 แห่งประกอบด้วย 1.บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) เนื่องจากมีผลขาดทุนไม่สามารถจ่ายปันผลได้ 2.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอ็มเอฟซี ป่าตอง เฮอริเทจ (M-PAT) เนื่องจากไม่มีรายได้ค่าเช่าจากผลกระทบโควิด ส่งผลให้กองทุนขาดทุนจากการลงทุนสุทธิและมีขาดทุนสะสม 3.กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เออร์บานา (URBNPF) เนื่องจากมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ได้มีมติผ่อนผันการชำระค่าเช่าช่วงของผู้เช่าช่วงในปี 2563-2564 ออกไปก่อน จากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ในปัจจุบันกองทุนรวมยังไม่ได้รับชำระเงินค่าเช่า

ส่วนบริษัทงดจ่ายปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2564 มีจำนวน 4 แห่งประกอบด้วย 1.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) งดจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหน่วยสำหรับไตรมาสนี้ เนื่องจากกองทุนมีขาดทุนสะสม ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 ที่ 10,718 ล้านบาท โดยกองทุนมีเงินสดจากการดำเนินงานคิดเป็นมูลค่าต่อหน่วยประมาณ 0.25 บาท ซึ่งกองทุนจะสะสมไปจ่ายในงวดถัดไป 2.บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) งดจ่ายปันผลตามนโยบายของหน่วยงานกำกับในการบริหารความเสี่ยง

3.บมจ.สุธากัญจน์ (SUTHA) งดจ่ายปันผลจากงบการเงินเฉพาะกิจการ มีกำไรสุทธิรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3.225 ล้านบาท และกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรจำนวน 84.559 ล้านบาท เนื่องด้วยบริษัทต้องมีการสำรองกระแสเงินสดใช้สำรองและใช้หมุนเวียนสำหรับธุรกิจ 4.บมจ.มาลีกรุ๊ป (MALEE)

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า คงต้องย้อนกลับไปพิจารณาดูว่าในปีก่อน ๆ บริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ประกาศงดจ่ายปันผลเป็นปกติหรือไม่ หากเพิ่งมาประกาศไม่จ่ายปันผลปีนี้จะสะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้าจากผลกระทบโควิด กดดันต่อรายได้และกำไรของ บจ.ที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องกันเงินสำรองไว้เพื่อจ่ายหนี้หรือดำเนินธุรกิจ

“การจะเห็นแนวโน้มการจ่ายปันผลระหว่างกาลว่าปรับตัวลดลงแค่ไหน คงต้องรอข้อมูลปลายเดือน ส.ค.นี้ก่อน เนื่องจากโดยปกติแล้วบริษัทส่วนใหญ่จะทยอยประกาศจ่ายปันผลภายในเดือน ส.ค.กัน อย่างช่วงเดือน ส.ค. 2563 มีบริษัทประกาศจ่ายปันผลรวมกว่า 140 บริษัท” นายฐกฤตกล่าว