กนง. หวั่นการแก้ปัญหาโควิดยิ่งยืดเยื้อ-รุนแรงขึ้น ถ้าการกระจายวัคซีนยังล่าช้า

ธปท. เปิดรายงานผลประชุม กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยเสี่ยงฟุบหนัก ห่วงยิ่งกระจายวัคซีนล่าช้ายิ่งทำให้ปัญหาสาธารณสุขยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น จับตาฐานะการเงินธุรกิจภาคบริการส่อปิดกิจการ-เลิกจ้างพุ่ง กังวลลูกหนี้ “ครัวเรือน-ธุรกิจ” ชำระไม่ไหวมากขึ้น จี้ใช้มาตรการการคลังอัดเม็ดเงินดูแลเศรษฐกิจ-หนุนขยับเพดานกู้เกิน 60%

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 5/2564 ที่ประชุมเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงมากจากมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ

มองเศรษฐกิจชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม ขยายตัว 0.7% และ 3.7% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณการ ในเดือนมิถุนายน 2564 ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ขณะที่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้าง ในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ลดลง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงขับเคลื่อนสำคัญ จาก (1) แนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนและลดทอนผลกระทบของการระบาดระลอกล่าสุดได้ส่วนหนึ่ง

และ (2) การส่งออก สินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า แม้ภาคการผลิตและภาคส่งออกบางส่วนจะเผชิญกับข้อจำกัดด้านอุปทาน เช่น ภาคการผลิตถูกกระทบจากจำนวนชั่วโมงทำงานที่ปรับลดลงหลังภาครัฐออกมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และการขาดแคลนวัตถุดิบทั่วโลก โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

หวั่นกระจายวัคซีนล่าช้าสร้างปัญหายืดเยื้อ

โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จาก (1) สถานการณ์การระบาด ทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ซึ่งอาจทำให้ปัญหาสาธารณสุขยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น (2) ฐานะทางการเงินของธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่เปราะบางมากขึ้นอีก ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดกิจการ และเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก

และ (3) ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราวที่คาดว่าจะคลี่คลายภายในครึ่งแรกของปี 2565 อาจรุนแรง ยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยมากกว่าที่คาด

ห่วงลูกหนี้ “ครัวเรือน-ธุรกิจ” ชำระไม่ไหวมากขึ้น

ด้านเสถียรภาพระบบการเงินมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยการระบาดระลอกล่าสุดซ้ำเติมให้รายได้และฐานะ ทางการเงินของลูกหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เปราะบางอยู่เดิมให้แย่ลง ส่งผลให้จำนวนลูกหนี้ ที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ (debt at risk) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังมีฐานะการเงิน ที่มั่นคงสามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงในอนาคต จึงทำให้ความเสี่ยงดังกล่าวต่อเสถียรภาพระบบ การเงินในภาพรวมยังมีจำกัด

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อภิปรายเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของการระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรง และยืดเยื้อมากขึ้น

โดยคณะกรรมการเห็นว่าโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ “การเร่งควบคุมการระบาดและ ป้องกันการระบาดของโรค” โดยเฉพาะการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ทันการณ์ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถรองรับได้และสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาฟื้นตัว

หนุนใช้นโยบายการคลังอัดเงินพยุงเศรษฐกิจ

“มาตรการการคลัง” ควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น โดยดูแลการจ้างงานและภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันการณ์ ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อาจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสูงกว่าระดับเพดานที่ 60% แต่จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังอย่าง มีนัยสำคัญ หากเม็ดเงินดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะสั้น รวมถึงใช้เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย จะเอื้อให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะยาวปรับลดลงได้

“ด้านนโยบายการเงิน” ต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงิน โดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยเงินบาทล่าสุดปรับอ่อนค่าและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำ แต่ยังมีปัญหาในการกระจายสภาพคล่องที่มีอยู่มากไปสู่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ

“มาตรการด้านการเงิน และสินเชื่อ” จึงควรเร่งปรับปรุงให้มีประสิทธิผลและเกิดผลเป็นวงกว้างขึ้น แม้ที่ผ่านมามาตรการสินเชื่อฟื้นฟูช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นและมาตรการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 เดือนจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บางส่วน แต่การระบาดระลอกล่าสุดมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาด จึงต้องเร่งกระจายสภาพคล่องเพิ่มเติมและผลักดันให้สถาบันการเงินลดภาระหนี้แก่ลูกหนี้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การเลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถชำระคืนหนี้ในระยะยาว

จี้กระตุ้นคนมีกำลังซื้อจับจ่ายพยุงเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นว่าควรออกแบบมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้กลุ่มครัวเรือนและธุรกิจที่ ได้รับผลกระทบน้อยและมีเงินออมสูงช่วยเพิ่มการใช้จ่ายและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้า

ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินในสถานการณ์ปัจจุบัน ผลประโยชน์สุทธิต่อเศรษฐกิจจากการลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงทางเลือกต่าง ๆ ของการดำเนินนโยบายในครั้งนี้ โดยเห็นพ้องกันว่าการใช้มาตรการทางการเงินจะสามารถช่วยเหลือ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ได้ตรงจุดมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี