พาณิชย์จับมือสศช. และ WEF เวิร์กช็อปเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยตามนโยบาย Thailand 4.0

พาณิชย์จับมือสศช. และ WEF เวิร์คช็อปเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 หลังไทยอันดับกระเตื้องจาก 34 มาอยู่ที่อันดับ 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลก

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การจัดสัมมนา“Competitiveness and Inclusive Growth: Navigating towards Thailand 4.0”ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) กระทรวงพาณิชย์และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ WEF มาจัดงานในประเทศไทยและนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ WEF และประเทศไทยได้ทำงานใกล้ชิดมากขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายเศรษฐกิจของไทย อาทิ Thailand 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีความสอดคล้องกับการปรับตัวรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หรือ Fourth Industrial Revolution (4IR) ซึ่ง WEF ผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและหาทางปรับตัว โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าให้เติบโตไปด้วยกัน ด้วยการน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาปรับใช้บนพื้นฐานการสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน หรือ Competitiveness และการเติบโตอย่างทั่วถึง หรือ Inclusive Growth เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

“การสัมมนาฯ ในครั้งนี้จะเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงนโยบายและหารือทิศทางการพัฒนาประเทศไทยของรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง CEO ของบริษัทชั้นนำ เช่น ปตท. ไทยเบฟ ซีพี ซึ่งเป็นสมาชิกของ WEF ผู้แทนจาก Oxfam UNDP ESCAP ธนาคารโลก บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระหว่างประเทศ เช่น PwC กลุ่มเทคสตาร์ทอัพ กลุ่มเกษตรกรออร์แกนิค บริษัทขนาดกลางที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี SME และหอการค้าต่างประเทศในไทย ในประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินงานเป็นลำดับต้นๆ เพื่อให้ไทยนำไปพิจารณาประกอบการกำหนดนโยบายการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกณฑ์ชี้วัดใหม่ หรือ New Methodology ที่คาดว่าจะปรับใช้ในปี 2561 ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์ชี้วัดของ WEF อีกด้วย”

สำหรับการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขัน หรือ Global Competitiveness Index (GCI) ปี 2017 – 2018 ประเทศไทย ขยับจากอันดับที่ 34 ในปีก่อน มาอยู่ที่อันดับที่ 32 จาก 137 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยไทยมีคะแนนดีขึ้นในหลายหมวดใหญ่ โดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพแรงงาน ด้านสภาพแวดล้อมด้านหน่วยงาน ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค และที่สำคัญคือด้านนวัตกรรม และด้านความพร้อมเทคโนโลยี ที่ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม WEF มองว่า ไทยยังมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งปรับปรุงอีกหลายด้าน ซึ่งการมาจัดสัมมนาฯ ของ WEF ในครั้งนี้ จะนำเสนอประเด็นที่เห็นว่าไทยควรเดินหน้าพัฒนาให้เร็วขึ้น ได้แก่ (1) การพัฒนาด้านสถาบันเพื่อให้มีธรรมาภิบาล (2) การปรับ/ลดกฎระเบียบเพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพของตลาดและสินค้า (3) การสร้างความพร้อมทางเทคโนโลยี (4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม และ (5) การพัฒนาการศึกษาและทักษะ โดย WEF จะเสนอให้ไทยให้ความสำคัญกับการมีนโยบายเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (inclusive growth policy) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

นางอภิรดีกล่าวว่า ความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่บ่งชี้ศักยภาพของประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ บรรยากาศการค้าและการลงทุน โดยประเด็นสำคัญที่ไทยต้องเร่งพัฒนาและปรับปรุงภายใต้เกณฑ์ชี้วัดใหม่ของ WEF เช่น ความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในส่วนตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ อาทิ การเริ่มต้นธุรกิจ การค้าระหว่างประเทศ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานั้น กระทรวงพาณิชย์จะเร่งรัดปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังจะขยายความร่วมมือกับ WEF ทางด้านเศรษฐกิจการค้า โดยความชำนาญของ WEF จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยให้ประเทศไทยมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของไทยผ่านเวทีเศรษฐกิจระดับโลกต่อไป

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้อันดับความสามารถในการแข่งขันไทยจะดีขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายด้านที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเฉพาะการแก้ปัญหาผลิตภาพของผู้ประกอบการที่ยังต่ำ ด้วยการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและการลดต้นทุนเพื่อให้แข่งขันได้ รวมทั้งการแก้กฎหมาย

ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องผลักดันการเพิ่มมูลค่าเกษตร การใช้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และกฎหมายบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ

นายจัสติน วู้ด หัวหน้าฝ่ายเอเชีย แปซิฟิก ของ WEF กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้หลายด้าน อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ไทยยังมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งปรับปรุงอีกหลายด้าน ซึ่งการมาจัดการประชุมของ WEF ในครั้งนี้ จะนำเสนอประเด็นที่เห็นว่าไทยควรเดินหน้าพัฒนาให้เร็วขึ้น ได้แก่ (1) การพัฒนาด้านสถาบันเพื่อให้มีธรรมาภิบาล (2) การปรับ/ลดกฎระเบียบเพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพของตลาดและสินค้า (3) การสร้างความพร้อมทางเทคโนโลยี (4) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม และ (5) การพัฒนาการศึกษาและทักษะ โดยทาง WEF ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมานำเสนอประเด็นเหล่านี้อย่างลึกและตรงไปตรงมา และจะเสนอให้ไทยให้ความสำคัญกับการมีนโยบายเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและเติบโตอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

ทั้งนี้ ​สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี 1971 โดย Prof. Klaus Schwab มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในองค์กรระดับโลกที่ริเริ่มการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Ranking) ทุกๆ ปี WEF จะทำการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่างๆ และเผยแพร่ผ่านรายงาน Global Competitive Yearbook โดยใช้ 114 ตัวชี้วัด แบ่งเป็น 3 sub-indexes ได้แก่ กลุ่มปัจจัยพื้นฐาน (Basic requirements) กลุ่มปัจจัยเสริมประสิทธิภาพ (Efficiency enhancers) และกลุ่มปัจจัยด้านนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญ (Innovation and sophistication Factors)

สำหรับ ข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณ (Global Competitiveness Index) 70% มาจากแบบสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเอกชน หรือ Executive Opinion Survey (EOS) ซึ่งเป็น Primary data โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างตามแนวทางของ WEF ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วน GDP ของประเทศ และสัดส่วนกลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดใหญ่ในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 50:50 นอกจากนี้ ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างต้องเป็นผู้ที่เคยตอบแบบสอบถามในปีที่แล้ว ข้อมูลอีก 30% มาจาก Secondary data จากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น World Bank, WTO, IMF และ UN โดย WEF จะสำรวจความเห็นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมของทุกปี